HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 14/04/2555 ]
เตือนพ่อแม่เฝ้าระวังลูกอัพยาช่วงสงกรานต์

ปัจจุบันวัยรุ่นไทยสามารถเข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย โดยจากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่เก็บสถิติเกี่ยวข้องกับการเข้ารับรักษาผู้ที่ติดยาเสพติด พบว่าวัยรุ่นชายมีสถิติการใช้สารเสพติดมากกว่าวัยรุ่นหญิงถึง 10 เท่า
          นพ.กฤษกร สุขวัฒน์วิบูลย์จิตแพทย์ด้านสุราและยาเสพติด โรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้จะมียาเสพติดระบาดเพิ่มขึ้นในหมู่วัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลแห่งความสนุกสนาน อาจมีการดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด ซึ่งทำให้เกิดความมึนเมา ประสาทหลอนขาดสติ ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ จนทำอะไรลงไปโดยไม่ได้ยับยั้งชั่งใจ สร้างความเสียหายและเสื่อมเสียแก่ตนเองและครอบครัวได้
          "วัยรุ่นเป็นวัยที่คึกคะนอง เวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อนฝูง ก็ต้องการยอมรับจากเพื่อนๆ อิทธิพลของกลุ่มจะมีผลต่อความคิดและการตัดสินใจของวัยรุ่นได้ ยิ่งการดื่มสุรานั้นทำให้ขาดสติยับยั้งชั่งใจบวกกันต้องการสนุกสนานเพิ่มเติมจึงใช้สารเสพติดหลายๆ ชนิดร่วมกัน เช่น ยาไอซ์ ยาอี โคเคน กัญชา หรือยานอนหลับชนิดต่างๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลเป็นช่วงที่ผู้คนเฉลิมฉลองกัน มีบรรยากาศสนุกสนานรื่นเริง ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงได้มาเจอหน้ากัน ซึ่งบางคนก็อยากให้บรรยากาศนั้นสนุกสนานมากขึ้นจึงใช้สุรา ยาเสพติด เข้ามาเพิ่มรสชาติหรือบ้างก็นำติดตัวมา พอมาเจอเพื่อนฝูงก็ชักชวนกันใช้ เวลาที่พวกเขาดื่มสุราหรือยาเสพติดจนทำให้ขาดสติ ขาดการยับยั้งชั่งใจ เวลาเพื่อนฝูงยุ หรือเชียร์หน่อยก็อาจต้องการทำให้เพื่อนเห็นว่าตนเองนั้นกล้านะ จึงทำไปโดยไม่ได้คิดว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร" นพ.กฤษกรกล่าว
          นพ.กฤษกรกล่าวอีกว่าหากพบว่าลูกเมาสุราหรือใช้สารเสพติด ควรรอให้อาการหงุดหงิดหรืออาการเมายาของลูกสร่างก่อน จึงค่อยพูดจากันดีๆ ไม่ดุด่า แต่รับฟังถึงปัญหาและสาเหตุของการ ไปเสพสารเสพติด พูดคุยกับลูกของเราแบบตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้ลูกได้อธิบายว่าเพราะอะไรเขาถึงไปดื่มหรือเสพเพื่อที่จะได้เข้าใจถึงสาเหตุจะได้สอนหรืออธิบายช่วยกันหาทางแก้ไขป้องกันเพราะการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือด้านร่างกายไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร แต่ถ้าในกรณีที่ลูกยังอยู่ภายใต้ฤทธิ์ของสารเสพติดแล้วมีอาการรุนแรงอาละวาด วุ่นวาย ทุบตี หรือทำร้าย คนรอบข้าง ก็ควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อระงับเหตุและรีบพามาบำบัดรักษาโดยเร็ว นอกจากนี้การพูดคุย รับฟังกันในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญมาก บางครอบครัวทำงานหนัก พอถึงบ้านแทบจะไม่ได้คุยอะไรกันเลย ช่วงวันหยุดเทศกาลก็เป็นโอกาสดีที่จะได้คุยกัน รับฟังกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อจะได้เพิ่มความผูก พันกันในครอบครัวให้เพิ่มขึ้น เพราะการ จะรอให้ภาครัฐมาปราบปรามคงไม่ ทันการแน่ พ่อแม่เองต้องสอนลูกตั้งแต่เล็กๆให้รู้ถึงพิษภัยของยาเสพติด โรงเรียนเองก็มีส่วนช่วยในการสอนเรื่องพิษภัยของยาเสพติดตั้งเล็กๆ
          สำหรับการบำบัดรักษาลูกที่ติดยาเสพติดนั้น นพ.กฤษกร ให้ข้อมูลว่า การบำบัดรักษา แบ่งออกได้ 2 ขั้นตอน คือการบำบัดรักษาด้วยยาเพื่อบรรเทาอาการหรือผลข้างเคียงที่เกิดจากฤทธิ์ของสุรายาเสพติด หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็เพื่อขจัดและล้างพิษภัยของสารเสพติดนั้นๆ ให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ปลอดภัย จากนั้นก็พูดคุยถึงสาเหตุ ปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยไปพึ่งพิงสุรายาเสพติด สร้างแรงจูงใจในการบำบัดรักษา อาจมีเรื่องของการปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้ทราบถึงข้อเสียของการใช้สารเสพติด มีการปรับพฤติกรรม รวมถึงการให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการบำบัดรักษาด้วยอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้ที่ต้องการรับคำแนะนำและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกยาเสพติด สามารถติดต่อแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาลเพื่อนัดหมายได้ที่เบอร์โทร. 0-2725-9595 หรือ www.manarom.com


pageview  1205014    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved