HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 29/11/2556 ]
ความจริงเกี่ยวกับโรค 'สะเก็ดเงิน'
 สะเก็ดเงินถือเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังอีกโรคหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย พบโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรทั่วโลก มีลักษณะสำคัญ คือ เป็นปื้นนูนแดงปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน ปื้นแดงนี้มักพบบริเวณข้อศอก เข่า หลังส่วนล่าง และหนังศีรษะ แต่อาจพบผื่นที่ผิวหนังบริเวณใดของร่างกายก็ได้ รวมทั้งที่เล็บ
          ทั้งนี้ ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่ผลที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง คือ มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วขึ้นกว่าปกติ และทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมีความหนากว่าผิวหนังปกติ สาเหตุหนึ่งที่เชื่อว่าทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน คือการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างผิดปกติต่อองค์ประกอบบางอย่างของผิวหนัง แต่สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด และอยู่ในระหว่างการศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง
          หากปัจจัยทางพันธุกรรมก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากพบว่า มีเพียงสมาชิกในบางครอบครัวเท่านั้นที่ป่วยเป็นโรคนี้ และพบ
          ว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน จะมีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนในเครือญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้เช่นเดียวกัน
          การเกิดผื่นมักเริ่มจากมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น ได้แก่อารมณ์เครียด การบาดเจ็บของผิวหนังอาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน และยาบางชนิด ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นเท่าที่จะสามารถทำได้
          อาการผื่นผิวหนังเป็นได้หลายรูปแบบแต่ที่พบบ่อยคือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดงลอกเป็นขุย เป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยบางรายเป็นเฉียบพลันแล้วผื่นก็หายไป บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจพบได้ คือ ความผิดปกติที่เล็บ ข้ออักเสบเป็นต้น ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อน หรือเกิดขึ้นพร้อมๆกับอาการผื่นผิวหนังอักเสบ
          ผื่นสะเก็ดเงินที่พบจะมีลักษณะเป็นตุ่มหรือปื้นสีแดงจัด ขอบเขตผื่นชัดเจน มีขุยหรือสะเก็ดเงินปกคลุม ขุยผื่นมีลักษณะเหมือนแผ่นกระจกแตกร้าว ขุยสีขาวคล้ายเงินปิดบนรอยผื่นสีแดง และเมื่อลอกขุยออกจะมีจุดเลือดออก ผื่นบางชนิดมีหลายรูปแบบอาจเป็นตุ่มกลมขนาดเล็กเท่าหยดน้ำ หรือผื่นกลมเท่าขนาดเหรียญ หรือปื้นขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ ขอบปื้นอาจหยักโค้ง บางรายเป็นปื้นขนาดใหญ่จากแผ่นหลังจดสะโพกหรือบางรายผื่นเป็นทั่วตัวจนไม่เหลือผิวหนังปกติ
          ส่วนลักษณะการกระจายของผื่นที่พบบ่อยมี 2 แบบ คือ 1.เป็นผื่นนูนขนาดหยดน้ำหรือเหรียญกระจายทั่วตัว มักเกิดในระยะเวลาสั้นๆ พบบ่อยในเด็กหลังทุเลาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผื่นชนิดนี้จะค่อยๆ จางหายได้เองหากได้รับการรักษาการติดเชื้อให้หายไป แต่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีก 2.เป็นผื่นเรื้อรังเฉพาะที่ บริเวณที่มีการเสียดสี เช่น ข้อศอก ข้อเข่า หลัง สะโพกหนังศีรษะ เป็นผื่นขนาดใหญ่ ผื่นจะขยายค่อยเป็นค่อยไป และอาจหายได้เองแต่ช้า
          แนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน ขึ้นกับความรุนแรงของโรคดังนี้
          สะเก็ดเงินความรุนแรงน้อย หมายถึงผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกายให้การรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก
          สะเก็ดเงินความรุนแรงมาก หมายถึงผื่นมากกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกายพิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทานหรือฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจใช้ร่วมกันระหว่างยารับประทานและฉายแสงอาทิตย์เทียม
          นอกจากการรักษาข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว การให้ความรู้ผู้ป่วยและญาติมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การเข้าใจความจริงที่ว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ ผู้ป่วยจะไม่ถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ญาติและคนใกล้ชิดควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย และเนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยควรดูแลปฏิบัติตนให้ถูกต้องจะช่วยควบคุมโรคให้สงบได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทราบเพียงว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นภายนอก ทำให้มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วผิดปกติ ดังนั้น การดูแลใส่ใจสุขภาพตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ดูแลสุขอนามัยเพื่อลดการติดเชื้อต่างๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอไม่เครียด น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคสะเก็ดเงิน และโรคร้ายอื่นๆ

pageview  1205918    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved