HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 22/08/2556 ]
ฝังเข็มรักษาโรคเหน็บชา

  นพ.อภิชัย ชัยดรุณ  สมาคมโรงพยาบาลเอกชน
          ไม่ค่อยได้หยิบเรื่องของการฝังเข็มรักษาโรคมาฝากกันสักเท่าไหร่ จริงๆ แล้วมีเรื่องน่าสนใจอยู่เยอะถ้ายังไงจะค่อยๆ ทยอยนำมาฝากกันในคอลัมน์นี้นะครับฉบับนี้หมอขอหยิบเรื่องการฝังเข็มรักษาโรคเหน็บชามาฝากกันก่อนก็แล้วกัน
          โรคเหน็บชา เป็นโรคที่พบได้บ่อยพอสมควร โดยเฉพาะในบรรดาผู้มีอายุเลยวัยกลางคนมาแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีอาการเหน็บชาบริเวณปลายมือปลายเท้า ไม่ค่อยรู้สึกเจ็บเวลาถูกของแหลมทิ่มตำ หรือรู้สึกหนาๆด้านๆ ที่บริเวณฝ่าเท้าหรือฝ่ามือ ซึ่งอาการนี้จะรู้สึกได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเดินด้วยเท้าเปล่า หรือเมื่อหยิบจับวัตถุ ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนเหมือนถูกพริกหรือน้ำร้อนลวกหรือปวดจี้ดๆ เหมือนถูกไฟฟ้าช็อต อาการเหล่านี้มักจะเกิดกับแขนหรือขาทั้งสองข้าง ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความรุนแรงของอาการแตกต่างกัน
          ในรายที่เป็นน้อยอาจจะมีเพียงอาการชาเฉพาะบริเวณปลายนิ้วเท่านั้น หรือมีอาการเป็นครั้งคราว แต่ในรายที่รุนแรงอาการอาจจะลามขึ้นมาเหนือข้อมือ ข้อเท้า มีลักษณะคล้ายกับ "สวมถุงมือ ถุงเท้าหนาๆ" เอาไว้ มีอาการเป็นอยู่ตลอดเวลา รู้สึกปวดแสบปวดร้อน หรือปวดจี้ดๆมากจนกระทั่งไม่สามารถนอนหลับในตอนกลางคืนได้เลยก็มี
          คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า โรคเหน็บชานั้นเกิดจากการขาดวิตามินบี 1 เท่านั้น แต่ความจริงแล้วสาเหตุของการเกิดโรคเหน็บชานั้นยังมีอีกมากมาย อาทิ โรคเบาหวาน ,โรคไตวาย, โรคตับอักเสบที่มีภาวะปลายประสาทอักเสบ การได้รับสารพิษหรือยาที่มีอันตรายต่อปลายประสาท, พิษของสุรา, โรคมะเร็ง, โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ เป็นต้น ทำให้เส้นประสาทส่วนปลายมือ ปลายเท้า ได้รับอันตราย ไม่สามารถทำงานในการส่งสัญญาณรับความรู้สึกได้ถูกต้อง จึงทำให้เกิดอาการเหน็บชาหรืออาการผิดแปลกไปต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
          การรักษาโรคเหน็บชานั้น จำเป็นต้องค้นหาสาเหตุของโรคก่อนเสมอ เพราะหากพบสาเหตุและขจัดออกไปอาการเหน็บชาจึงจะทุเลาลงได้ อย่างไรก็ตาม บางครั้งเราอาจจะหาสาเหตุไม่พบก็ได้ และในบางครั้ง แม้ว่าจะขจัดสาเหตุออกไปได้ แต่อาการเหน็บชาก็ไม่ทุเลา เนื่องจากเส้นประสาทเสียหายมาเป็นเวลานานจนไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ก็มี
          การฝังเข็มเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถใช้รักษาอาการเหน็บชาหรือปวดปลายมือปลายเท้าได้เป็นอย่างดี โดยที่แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กๆ ปักบริเวณปลายแขนปลายขา เพื่อกระตุ้นเส้นประสาทส่วนปลายของแขนขาโดยตรง และช่วยเพิ่มกระตุ้นเส้นประสาทส่วนปลายของแขนขาโดยตรง และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่จะไปหล่อเลี้ยงเส้นประสาทให้มากขึ้น จึงทำให้เส้นประสาทสามารถฟื้นตัวกลับมาทำงานเป็นปกติได้
          โดยทั่วไปแล้วจะฝังเข็มกระตุ้นประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 10 ครั้ง ประมาณ 90% ของผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นเสมอ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถหายเป็นปกได้
          ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอยู่แต่เดิม เช่น โรคเบาหวาน, โรคไตวาย ก็ควรต้องทำการรักษาโรคเหล่านั้นรวมไปกับการทำฝังเข็มด้วย เพื่อป้องกันมิให้อาการเหน็บชากำเริบขึ้นมาอีก


pageview  1205891    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved