HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
สยามรัฐ [ วันที่ 11/05/2555 ]
'อายุ' เป็นเพียงตัวเลข... จริงหรือ..!?

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
          "โลก" ณ วันนี้ กำลังเต็มไปด้วย ผู้สูงอายุ โดยข้อมูลจาก"กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ" (UNFPA) ระบุว่า จากการสำรวจ สถิติประชากรโลก พบว่า 1 ใน 10 จะมีผู้สูงอายุ(ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหมายความว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" (Ageing Society) อย่างรวดเร็ว
          ไม่เพียงแต่สังคมโลกเท่านั้น แต่สังคมไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีผู้สูงอายุ ร้อยละ10 ของประชากรทั้งประเทศ โดยปี 2554 มีผู้สูงอายุกว่า 8 ล้านคนแล้ว แต่อีก 18 ปี ข้างหน้าผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 17 ล้านคน หรือใน 4 คนจะมีผู้สูงอายุ 1 คน คิดเป็นร้อยละ 25 ของประชากรประเทศทั้งหมดและสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์
          ปรากฏการณ์ทางที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยกำลังก้าวสู่การเป็น "สังคมผู้สูงอายุ"
          อย่างเต็มตัวในอีกไม่นาน...
          เมื่อกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องดำเนินการ คงหนีไม่พ้นการเตรียมพร้อมเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุดีขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุมีบทบาทในการพัฒนาสังคมและประเทศ โดยเมื่อไม่นานมานี้"นายกฯยิ่งลักษณ์" ได้แถลงนโยบาย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วย
          อยู่อย่างสบายกายคือ การปรับเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดโดยอายุ 60-69 ปี รับ 600 บาท ต่อเดือน อายุ 70-79 ปี รับ 700 บาท ต่อเดือน อายุ 80-89 ปีรับ 800 บาทต่อเดือน และ 90 ปีขึ้นไปรับ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งได้ประกาศตั้งแต่ตุลาคมปี2554 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลเริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้การสร้างสาธารณูปโภคที่อำนวยความสะดวกเหมาะกับผู้สูงอายุรวมถึงสร้างวินัยในการออม โดยอายุ 15-58 ปี รัฐบาลจะสนับสนุนสมทบเงินออม 50% หาก หากอายุ 58 ปีขึ้นไปรัฐบาลสนับสนุนเงินออม 100%
          ขณะที่อยู่อย่างมีคุณค่าคือ การรณรงค์ให้ลูกหลานมีความเคารพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรคำนึงถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ โดยรัฐบาลสนับสนุนการสร้างเวทีให้ผู้สูงอายุถ่ายทอดภูมิปัญหาให้กับลูกหลาน รวมทั้งประกอบอาชีพสร้างรายได้ นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลจะบูรณาการทุกกระทรวงในการขยายโอกาส ให้ผู้สูงอายุทุกท่าน ส่งเสริมภูมิปัญหา สร้างอาชีพ รวมถึงการขยายกองทุนกู้ยืมผู้สูงอายุภายใต้สวัสดิการต่างๆ ที่รัฐบาลจัดให้
          ส่วนอยู่อย่างสุขใจมีความสุขจะดำเนินการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้นในชุมชน มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิด "คนสามวัยใจตรงกัน" ซึ่งมีทั้งวัยเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุ ได้แลกเปลี่ยนกัน มีสัมพันธภาพที่ดีในชุมชน ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตสุขภาพ กายที่ดีและอยู่อย่างมีความสุขในชุมชนต่อไป
          การมีนโยบาย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญแก่ ผู้สูงวัย แต่อย่างไรก็ตามการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะประสบการณ์ของผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตมาอย่างร่วมสมัย ถือเป็นอีกภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยเช่นกัน
          เหตุผลดังกล่าว น่าจะทำให้"นครสวรรค์โพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จึงได้สำรวจความคิดเห็นของผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 1,248 ตัวอย่าง ในประเด็น"ชีวิตของผู้สูงอายุไทย"ณ วันนี้ ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
          "การเมืองไทย" ณ วันนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้(5 ปี ที่ผ่านมา) เป็นอย่างไร?พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ51.22 รู้สึก "เหมือนเดิม" เพราะยังมีการทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้ง แตกแยกอยู่เหมือนเดิม นักการเมืองมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ฯลฯ
          "เศรษฐกิจไทย" ณ วันนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้(5 ปี ที่ผ่านมา) เป็นอย่างไร?พบว่า ผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ ร้อยละ69.08 รู้สึก "เศรษฐกิจไทย" ณ วันนี้ แย่กว่า เพราะข้าวของทุกวันนี้แพงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่ผ่านมา ค่าครองชีพสูงขึ้น เงินไม่พอจ่าย ต้องกู้หนี้ยืมสิน ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมและภัยธรรมชาติอย่างหนัก ฯลฯ
          "สังคมไทย" ณ วันนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนหน้านี้ (5 ปี ที่ผ่านมา) เป็นอย่างไร?พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ66.50 รู้สึก "สังคมไทย" ณ วันนี้ แย่กว่า เพราะคนไทยขาดความสามัคคี แตกแยก ขาดคุณธรรมจริยธรรม ต่างคนต่างเอาตัวรอด ไม่มีน้ำใจ สภาพสังคมเสื่อมโทรม จิตใจคนโหดเหี้ยมมากขึ้น เทคโนโลยี ความทันสมัยต่างๆ เข้ามาทำลายความเป็นไทยฯลฯ
          "3 อันดับบทเรียน" ที่ผู้สูงอายุได้รับจากการใช้ชีวิตมาถึง ณ วันนี้ ที่อยากฝากให้ลูกหลาน พบว่า "คำตอบ" ที่ผู้สูงอายุตอบมากที่สุดร้อยละ 36.21 คือ เกิดเป็นคนต้องยึดมั่นในความดี มีความกตัญญู มีน้ำใจ รู้จักให้อภัยและแบ่งปัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
          รองลงมา ได้แก่ การใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่ประมาทขยัน อดทน ไม่กลัวลำบาก ไม่ฟุ้งเฟ้อ และอยู่อย่างพอเพียงร้อยละ 30.60 คนไทยทุกคนจะต้องรักและหวงแหน แผ่นดินช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมไทยให้อยู่ต่อไป ร้อยละ15.09
          ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ คือ ความคิดเห็นของผู้สูงอายุ ซึ่งหากได้รับฟังแล้ว ทุกเพศทุกวัยช่วยกันคิด หรือเก็บความคิดเห็นไปคิด ย่อมทำให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันแบบสงบสุข หรือต่อให้มีปัญหาก็สามารถผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ได้ เพราะทุกเพศทุกวัยเข้าใจกัน...
          นี่กระมังเขาถึงกล่าวว่า "อายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข"เท่านั้น...!! (ถ้าทุกวัยรับฟังกันและกัน)


pageview  1205127    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved