HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 10/01/2557 ]
อาหารทารกและเด็กเล็ก
 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก)
          อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็กหรืออาหารเสริมตามวัยหมายถึง อาหารอื่นที่ทารกได้รับเป็นมื้อนอกเหนือจากนมแม่หรือนมผสม โดยชนิดอาหารที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุของทารกและเด็กเล็ก เพื่อให้ทารกและเด็กเล็กได้รับสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ และเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต ช่วยให้ปรับตัวจากการกินอาหารเหลวซึ่งก็คือนมมาตลอด เป็นอาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว และอาหารแบบผู้ใหญ่
          สำหรับหลักในการให้อาหารตามวัยของทารกและเด็กเล็กตามคู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็กของ สสส. ได้บอกหลักการในการให้อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็กไว้อย่างง่ายๆว่า สมวัย เพียงพอ และปลอดภัย ซึ่งในแต่ละช่วงอายุของทารกและเด็กเล็ก เราสามารถแบ่งช่วงวัยของทารกและเด็กเล็กตามอาหารที่ควรได้รับ 3 ช่วงคือ
          1.ทารกแรกเกิด-อายุ 6 เดือน นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกช่วงนี้ เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต และระบบต่างๆในการกินอาหารของทารกช่วงนี้ยังไม่พร้อมสำหรับการกินอาหารชนิดอื่นๆนอกจากนมแม่
          2.อายุ 6-12 เดือน เมื่อทารกอายุประมาณ 6 เดือน ระบบต่างๆในการกินอาหารมีความพร้อมมากขึ้น จึงแนะนำให้เริ่ม อาหารตามวัยสำหรับทารกวันละ 1-3 มื้อ เริ่มต้นจากวันละ 1 มื้อ ควบคู่ไปกับการกินนมแม่ โดยทุกๆมื้ออาหารที่เพิ่มขึ้นตามช่วงอายุจะต้องลดการให้นมแม่ไปด้วย เพื่อไม่ให้ทารกเกิดภาวะอ้วน
          อาหารตามวัยสำหรับทารกในแต่ละมื้อควรมีสารอาหารครบ ทั้ง 5 หมู่ ประกอบด้วย ข้าวบดหรือข้าวตุ๋นประมาณ 4 ช้อนกินข้าว เลือกใช้ผักใบเขียวหรือเหลืองส้มที่อ่อนนุ่ม กลิ่นไม่แรง เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง หรือแครอท 1-2 ช้อนกินข้าว อาหารที่มีโปรตีนสูงแต่อ่อนนุ่มบดง่าย ได้แก่ ไข่แดง ตับไก่ เต้าหู้อ่อน หรือปลา หมุนเวียนสลับกันไป และใช้น้ำมันพืชประมาณครึ่งช้อนชา ทำให้ความหยาบของอาหารมีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป เพื่อให้ทารกฝึกทักษะการเคี้ยวและกลืน
          3.อายุ 1-2 ปี เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เด็กควรได้รับอาหารมื้อหลักวันละ 3 มื้อ และนมรสจืดวันละ 2-3 มื้อ หรือถ้ายังให้นมแม่อยู่ ควรให้นมแม่ต่อไปจนถึงอายุ 2 ปี เมื่อเด็กมีอายุประมาณ 1 ปี ควรหัดให้เด็กดื่มนมจากถ้วยแทนการดูดจากขวดเพื่อป้องกันฟันผุ
          อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ ควรมีสารอาหารครบถ้วน และดัดแปลงจากอาหารของผู้ใหญ่ โดยทำให้สุก อ่อนนุ่ม ชิ้นเล็กเคี้ยวง่าย และรสไม่จัด แต่ละมื้อประกอบด้วยข้าวสวยหรืออาหารประเภทแป้งประมาณ 1 ทัพพี เนื้อสัตว์ประมาณ 1-1 ช้อนกินข้าว ให้ไข่เป็นประจำ ใช้น้ำมันพืช ให้ผักใบเขียว สลับกับผักสีเหลืองส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง สลับกัน และให้อาหารว่างเป็นผลไม้วันละ 1-2 มื้อ เมื่อเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถรับประทานอาหารเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ได้
          นอกจากการให้อาหารตามวัยอย่างสมวัย เพียงพอ และ ปลอดภัยดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ยังมีข้อแนะนำอื่นๆที่สำคัญที่จะ ช่วยให้สามารถเลือกอาหารตามวัยได้อย่างถูกต้องและเป็นประ โยชน์ต่อสุขภาพของทารกและเด็กเล็กอย่างสูงสุดคือ ควรเลือก อาหารให้มีความหลากหลาย ไม่ซ้ำซากจำเจ ควรเลือกวัตถุดิบ อาหารที่มีสีสันสดใส น่ากิน ให้กินอาหารรสธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่ง ด้วยน้ำตาล น้ำผึ้ง ผงชูรส และผงปรุงรส ควรมีมื้อว่างให้เด็ก และเลือกอาหารที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงขนมที่มีรสหวาน มัน เค็มจัด และขนมที่เหนียวติดฟัน เลือกน้ำสะอาดให้ดื่ม

pageview  1205915    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved