HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 02/01/2557 ]
เลี้ยงลูกให้เป็น'คน'เลี้ยงลูกด้วย'หนังสือ'
  นพ.อุดม เพชรสังหาร
          editor@LokWanNee.com
          สวัสดีปีใหม่ 2557 ครับ ขอให้สิ่งเลวร้ายทั้งหลายในชีวิตของท่านจงจากไปพร้อมกับปีเก่า ส่วนปีใหม่นี้ขอให้ท่านเจอแต่สิ่งดีๆตลอดไป
          ช่วงก่อนปีใหม่ผมเป็นแขกของมูลนิธิเอสซีจี (เดิมคือมูลนิธิซิเมนต์ไทย) ไปร่วมกิจ กรรมเปิดงาน "เทศกาลนิทานในสวนเชียงใหม่ ปีที่ 5" ที่บริเวณลานสัก ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เห็นพ่อแม่ชาวเชียงใหม่ให้ความสนใจพาลูกๆ หลานๆมาร่วมกิจกรรม "ร่วมสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ" กันอย่างคึกคักแล้วก็ชื่นใจครับ
          แต่สิ่งที่ผมชื่นใจมากๆจนต้องหยิบเอามาเล่าในวันนี้ก็คือ ปฏิกิริยาของเด็กๆกลุ่มหนึ่งต่อเรื่องราวของละครที่มีการแสดงให้ชมในงานนี้ครับ
          นักแสดงเขาหยิบเรื่องราวบางตอนจากหนังสือภาพสำหรับเด็กเรื่อง "เกาะมหาสมบัติ" ที่มูลนิธิเอสซีจีจัดพิมพ์ขึ้นเพื่องานนี้มาแสดงให้เด็กๆดู โดยจับเอาตอนที่โจรสลัด "ลองจอห์น ซิลเวอร์" ไล่ล่าเจ้ากระต่ายน้อยมาแสดง กระต่ายน้อยผู้น่าสงสารหนีหัวซุกหัวซุนด้วยความหวาดกลัว จนทำให้เด็กๆหลายคน "เห็นใจ" กระโดดออกมาปกป้องเจ้ากระต่ายน้อยกันจ้าละหวั่น
          หนุ่มน้อยคนหนึ่งอายุน่าจะประมาณสัก 3 ขวบได้ ถึงกับโอบกอดนักแสดงที่แสดงเป็นตัวกระต่ายน้อยเอาไว้ในวงแขนเหมือนจะบอกว่า "เจ้ากระต่ายน้อย เธอไม่ต้องกลัวนะ ฉันจะปกป้องเธอเอง" แมนเอามากๆเลยครับ
          หลายคนอาจงงว่ากะอีแค่เด็ก "อิน" กับละคร แล้วผมไปชื่นใจอะไรนักหนา
          ครับ ถ้าเรามองว่าปฏิกิริยาที่เกิดกับเด็กเวลาที่พวกเขาดูละครนั้นเป็นแค่ปฏิกิริยาที่แสดงออกถึงความสนุกสนาน ความชอบไม่ชอบ หรือเป็นเรื่องของอรรถรสในการดูละคร ก็ไม่มีอะไรที่ต้องพูดกันอีก
          แต่ถ้าเรามองปฏิกิริยานี้ในแง่ของศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาคน นี่คือ "แบบฝึกหัดบ่มเพาะความเป็นคน" ที่มีค่าและสามารถนำไปใช้ได้ดีทีเดียว และสังคมในปัจจุบันก็เรียกร้อง "การเคารพในความเป็นคน" กันมากขึ้น อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคตจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์
          แล้วอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นคน"
          ที่ชัดที่สุดก็คือ "การมองเห็นคนอื่นก็เป็น "คน" เช่นเดียวกับเรา"
          เรามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี คนอื่นเขาก็มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของเขาเช่นกัน
          เราไม่อยากให้ใครมาดู ถูกเหยียบย่ำ คนอื่นเขาก็ไม่อยากให้ใครดูถูกเหยียบย่ำเขาเหมือนกัน
          คนอื่นเขาก็มีหัวจิตหัวใจเหมือนกันกับเรา ดีใจ เสียใจเหมือนกับเรา เราอยากให้คนอื่นรัก คนอื่นเขาก็อยากเป็นที่รักของใครต่อใครเหมือนกัน
          เราอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างนั้น
          นี่คือ "ความเป็นคน" ที่เราต้องมีกันทุกคน เป็นสิ่งที่เกิดจากการฝึกฝน ไม่ได้เกิดขึ้นเอง และต้องเริ่มต้นการฝึกฝนตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "ช่วงปฐมวัย" ฝรั่งเรียกสิ่งนี้ว่า "Theory of Mind" ซึ่งมีความหมายคร่าวๆคือ เป็นความสามารถของคนเราในการที่จะเข้าใจว่าคนอื่นก็มีความคิด มีจิตใจเช่นเดียวกับเรา เขาคิดได้ รู้สึกได้ โกรธได้ เกลียดได้ น้อยใจได้เช่นเดียวกับเรา การเกิดขึ้นของ "Theory of Mind" จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ "ความเป็นคน" การที่เด็กๆออกมาช่วยกันปกป้องกระต่ายน้อยจากโจรสลัด "ลองจอห์น ซิลเวอร์" นั่นแสดงว่าพวกเขารับรู้ถึงความหวาดกลัวที่มีอยู่ในหัวใจของกระต่ายน้อยได้เป็นอย่างดี จึงอยากให้กระต่ายน้อยพ้นจากความหวาดกลัวอันนี้ไป นี่คือสิ่งที่แสดงว่าเด็กๆเหล่านี้เริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นคน" หรือ "Theory of Mind" ในใจของพวกเขาแล้ว ถ้าสิ่งนี้ได้รับการหล่อเลี้ยงให้งอกงามขึ้นไปเรื่อยๆ พวกเขาจะกลายเป็น "พลเมืองที่มีคุณภาพ" ของประเทศในที่สุด
          การเกิดขึ้นของ "ความเป็นคน" หรือ "Theory of Mind" เป็นการทำงานของสมองหลายส่วนด้วยกันครับ ตั้งแต่สมองส่วนหน้า ระบบเซลล์กระจกเงา ระบบลิมบิก ระบบความจำ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามกฎธรรมชาติของสมองที่ว่า "Use it or loosed it" นั่นก็คือ "จะพัฒนาสมองส่วนไหน ต้องใช้งานสมองส่วนนั้น" หรือต้อง "ป้อนแบบฝึกหัด" ให้กับมันนั่นเอง
          ละครจากหนังสือ "เกาะมหาสมบัติ" กระตุ้นให้เด็กๆเกิดความสงสารกระต่ายน้อยที่กำลังถูกตามล่า คือแบบฝึกหัดที่ดีมากๆอันหนึ่งครับ การสร้าง "ความเป็นคน" หรือ "Theory of Mind" ก็ต้องทำแบบนี้แหละครับ
          การฝึกความเป็นคนด้วย "การให้เด็กท่องนิยามความเป็นคน หรือท่องนิยามคนดี" กระตุ้นสมองได้แค่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำครับ จึงไม่แปลกที่เด็กของเราจะจำนิยามความดีได้แม่นยำ แต่ไม่เคยทำอะไรที่เป็นความดีเลย เผลอๆยังทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ท่องจำไว้อีกต่างหาก
          ความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของสมองในส่วนที่เกี่ยว ข้องกับ "ความเป็นคน" หรือ "Theory of Mind" ทำให้เรารู้ว่า เรื่องเล่า วรรณกรรม ละคร หรือภาพยนตร์ที่สามารถสร้างความสะเทือนใจ สามารถสร้างความประทับใจในคุณค่าของความเป็นคนให้เกิดขึ้นกับเด็กๆหรือตัวเรานั้น คือเครื่องมือที่มีคุณภาพในการสร้าง "ความเป็นคน" หรือ "Theory of Mind" ให้เกิดขึ้นทั้งในเด็กและในตัวเราเอง
          แต่การที่เด็กๆจะได้สัมผัสละครหรือภาพยนตร์อย่างที่ว่านี้บ่อยๆคงไม่ใช่เรื่องง่าย เว้นเสียแต่พ่อแม่จะอ่านหนังสือหรือเล่าเรื่องราวแบบนี้ให้พวกเขาฟังบ่อยๆ อันนี้เป็นไปได้แน่ เรื่องราวของหนังสือจะค่อยๆกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "ความเป็นคน" หรือ "Theory of Mind" ของพวกเขาให้งอกงามขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นวงจรที่ถาวรในสมองของพวกเขา และทำให้พวกเขามี "ความ เป็นคน" ที่สมบูรณ์ต่อไป
          ด้วยเหตุนี้ผมจึงใช้ชื่อบท ความชิ้นนี้ว่า "เลี้ยงลูกให้เป็นคน เลี้ยงลูกด้วยหนังสือ" และอยากชวนให้พ่อแม่ทุกคนมาทำสิ่งนี้กัน เพราะ "ความเป็นคน" ในหัวใจคนไทยทุกๆคนคือสิ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยของเราอยู่รอดครับ
          เหตุการณ์ทางการเมือง ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้สะท้อนชัดเจนว่า สังคมของเรากำลังป่วยด้วย "โรคความเป็นคนบกพร่อง" เรามองค่าของคนไม่เท่ากัน เราพร้อมที่จะเหยียบย่ำทำร้ายคนที่คิดต่าง หรือแม้กระทั่งการคร่าเอาชีวิตผู้อื่นเพียงเพราะเขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา เราเอารัดเอาเปรียบกัน ฯลฯ เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมอื่นบนโลกใบนี้ ซึ่งบทสุดท้ายของมันทุกคนก็รู้ว่าสยดสยองนัก
          อย่าให้สังคมไทยต้องเดินไปจนถึงตรงจุดนั้นเลยครับ
          "เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้สะท้อนชัดเจนว่า สังคมของเรากำลังป่วยด้วย "โรคความเป็นคนบกพร่อง""

pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved