HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 11/02/2555 ]
ดนตรีกับโรคออทิสซึม

         นพ.อุดม เพชรสังหาร worldtoday@watta.co.th

          สัปดาห์ที่แล้วผมเล่าถึงดนตรีกับการรักษาโรคติดยาบ้า สัปดาห์นี้เลยขอต่อเรื่องดนตรีอีกหน่อย คราวนี้ขอเล่าถึงเรื่องดนตรีกับ "โรคออทิสซึม" เพื่อท่านจะได้รู้ว่าอันดนตรีนั้นมีคุณมากมายนัก ขอเพียงเราเข้าใจและสามารถเชื่อมศาสตร์ว่าด้วยดนตรีเข้ากับศาสตร์แขนงอื่นๆ เราก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากดนตรีได้อย่างมหา ศาลทีเดียว
          โรคออทิสซึม เป็นอีกโรคหนึ่งที่วงการแพทย์เริ่มมีความรู้ว่าสามารถใช้ดนตรีเยียวยาได้
          โรคออทิสซึมหรือผู้ป่วยออทิสติก เกิดจากพัฒนาการทางด้านภาษา ทักษะในการเข้าสังคม และความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นของผู้ป่วยมีความบกพร่อง ไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารพูดคุยกับผู้อื่นรู้เรื่อง ไม่สามารถอ่านใจผู้อื่นเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเจตนาของผู้อื่นได้ ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
          ความผิดปรกติเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการเรียนรู้ และความสามารถในการอยู่ร่วม กับผู้คนในสังคมของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เราจึงมักพบว่าผู้ป่วยชอบที่จะอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่มีเพื่อน ไม่ชอบสุงสิงกับใคร ชอบพูดจาด้วยภาษาแปลกๆ ชอบทำท่าทางแปลกๆซ้ำๆ
          ตรงกับรากศัพท์ที่เขานำมาใช้เรียกชื่อโรคนี้ นั่นคือคำว่า "Auto" ซึ่งมีความหมายว่า "ตัว ของเราเอง" ดังนั้น "Autism"จึงมีความหมายตรงๆว่า "คนที่ชอบอยู่กับตัวเอง"
          โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เกิดจากเซลล์กระจกเงา ซึ่งเป็นเซลล์สมองชนิดหนึ่ง และการเชื่อมต่อกันของเซลล์เหล่านี้กับระบบประสาทสัมผัส (การได้ยิน การมองเห็น และการ เคลื่อนไหวร่างกาย) มีความบกพร่อง มีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์
          เซลล์กระจกเงาทำให้เราสามารถอ่านใจผู้อื่นออก ทำให้เรารู้ว่าท่าทางแบบนี้ของเพื่อนหมายความว่าอย่างไร ทำให้เรา รู้ว่าตอนนี้เพื่อนของเรารู้สึกอย่าง ไร ดีใจ เสียใจ หรือเศร้าใจ
          เมื่อเรารู้ว่าเพื่อนมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร เราก็สามารถรู้ว่าเราควรจะวางตัวกับเขาอย่างไร จะสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์กับเขาได้อย่างไร
          เซลล์กระจกเงาทำให้เราสามารถเรียนรู้และเข้าใจภาษาพูด ซึ่งจะนำมาสู่การเข้าใจภาษาอ่าน ภาษาเขียน และไวยากรณ์ในภาษานั้นๆในที่สุด
          เมื่อเซลล์กระจกเงาและการเชื่อมต่อวงจรของมันกับเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น การได้ยินสัญญาณเสียง และท่าทางการเคลื่อนไหวบางอย่าง ไม่สมบูรณ์ จึงกลายเป็นความบกพร่องอย่างที่เห็น และเราเรียกความบกพร่องนี้ว่า โรค ออทิสซึม
          จะมีวิธีเยียวยาโรคนี้ได้อย่างไร?
          เมื่อก่อนเรายังไม่รู้ว่าสาเหตุของโรคคืออะไร และร่องรอยของโรคอยู่ที่ตรงไหน เราก็รักษาโรคนี้ตามอาการที่เราพบ เช่น ผู้ป่วยโรคนี้ไม่ชอบจ้องตาคนอื่น เราก็กระตุ้นให้เขาจ้องตาเรา เขาไม่ชอบเข้าสังคม ชอบ แยกตัว เราก็ฝกให้เขารู้จักเข้าสังคมกับผู้อื่น บางครั้งเราก็ใช้
          ยาเพื่อควบคุมท่าทางการแสดง ออกที่แปลกๆของเขา
          แต่พอเริ่มเข้าใจสาเหตุของโรคก็มีคนเริ่มมองไปที่การใช้ดนตรีเพื่อการรักษาโรคนี้
          เดิมทีแม้ความรู้ความเข้า ใจเกี่ยวกับสมองยังมีไม่มากนัก แต่ก็มีคนเริ่มสังเกตพบว่า เด็กที่เล่นดนตรีมักจะมีพัฒนาการในด้านภาษา การได้ยิน การควบ คุมการเคลื่อนไหวร่างกาย ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นดนตรี และเมื่อความรู้ด้านสมองมีมากขึ้น เราเริ่มรู้ว่าโรคออทิสซึมเป็นผลมาจากความบกพร่องของเซลล์กระจกเงา ซึ่งเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของภาษา จึงเริ่มมีคนทดลองเอาดนตรีมาใช้ในการกระตุ้นผู้ป่วยออทิสซึม และก็พบว่าได้ผล
          แคทเธอรีน หวัง, ก็อตต์ไฟร์ ชลัก และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นกลุ่มหนึ่งที่เสนอแนวคิดนี้ ในปี 2553 พวกเขาเสนอว่าการให้ผู้ป่วยได้มีประสบการณ์ด้านดนตรี ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี หรือ การขับร้องแบบเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่น จะกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษาและการเข้าสังคมของ ผู้ป่วยออทิสซึม และทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และมีงานวิจัยอีกหลายๆชิ้นที่เริ่มรายงาน ว่าดนตรีสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยออทิสซึมได้
          แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่การใช้ดนตรีเพื่อการรักษานั้นก็ไม่ ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าที่เราจะสอนให้ผู้ป่วยเหล่านี้เล่นดนตรีเป็น ร้องเพลงเป็น จนสามารถใช้การเล่นดนตรีและร้องเพลงเพื่อการรักษาโรคได้นั้น ใครที่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้จะรู้ว่าไม่หมู แถมนี่ต้องทำเป็นกลุ่มด้วยยิ่งยากขึ้นไปอีก
          เราต้องสอนให้ผู้ป่วยเข้า ใจกับตัวโน้ต เข้าใจวิธีการที่จะทำให้ดนตรีมีเสียงตามตัวโน้ต และสามารถที่จะร่วมมือกับคนอื่นทำให้ดนตรีกลายเป็นเพลงแบบเล่นเป็นวงหรือร้องเป็น กลุ่มได้ ซึ่งไม่ง่ายเลย
          โธ่...คนปรกติธรรมดาอย่างเราๆก็ถอยหลังมาเยอะแล้วครับกับการหัดเล่นดนตรี
          ตรีรัตน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ คือผู้ผ่าทางตันนี้ โดยคิดค้นวิธีเล่นเปียโนแบบง่ายๆขึ้นมา เพียง แค่คุณอ่านเลขอารบิก 1 ถึง 5 ออก และสามารถจำตำแหน่งการวางนิ้วบนแป้นเปียโนซึ่งมีเพียง 2 ตำแหน่งได้ คุณก็จะสามารถเล่นเปียโนเป็นเพลงได้ภายในเวลาเพียงแค่ 10 นาที
          ผมมีประสบการณ์กับเรื่อง นี้ทั้งเรียนเองและสอนคนอื่น
          น้องปาล์มมี อายุ 5 ขวบ ลูกของน้องที่ทำงานกับผมตามแม่มาที่บริษัทเพราะโรงเรียนหยุดวันครู พอเห็นเปียโนตั้งอยู่ก็อ้อนแม่อยากเล่นเปียโน ร้อนถึงลุงหมอต้องทำหน้าที่สอน ครับ ภายใน 10 นาที ปาล์มมีก็สามารถโชว์เพลงสามัคคีชุมนุมให้แม่น้ำตาเล็ดน้ำตาไหลกับผลงานของเธอได้เลย
          ด้วยความง่ายในการเข้าถึงจึงทำให้ 1-5 Piano สามารถเป็นเครื่องมือในการรักษาโรคออทิสซึมได้โดยไม่ยากเย็น และความจริงตรีรัตน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ก็ทดลองใช้ 1-5 Piano ของเขาในการรักษาผู้ป่วยออทิสซึมมานานแล้วตั้งแต่ยังไม่มีทฤษฎีอะไรมารองรับเลย และเขาก็บอกได้จากประสบการณ์ของตัวเองว่าผู้ป่วยของเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน น่าเสีย ดายที่สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้ในรูปแบบงานวิจัย เขาจึงยังไม่สามารถพูดให้นักวิชาการทั้งหลายเชื่อได้ว่า 1-5 Piano ของเขาสามารถรักษาผู้ป่วยออทิสซึมได้
          ไม่งั้นได้รู้กันไปนานแล้วครับว่า "ไผเป็นไผ"
          ไม่เป็นไรครับ ทุกอย่างเริ่ม ต้นใหม่ได้ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ผมและตรีรัตน์มีนัดกับกลุ่มผู้ปกครองและครูของ
          เด็กออทิสติกที่จังหวัดขอนแก่น เราจะสอนพวกเขาว่าจะใช้ 1-5 Piano ช่วยเด็กๆเหล่านี้ได้อย่างไร และคราวนี้เราจะลง มือทำการวิจัยอย่างจริงจัง เพื่อแสดงให้ชาวโลกได้รู้ว่าโรคออทิสซึมที่แพทย์ทั่วโลกกำลังพยายามหาหนทางรักษาอยู่นั้น คนไทยได้ค้นพบวิธีการง่ายๆในการรักษาแล้ว และถึงเวลาที่คนทั่วโลกจะต้องมาเรียนรู้จากคนไทยบ้างแล้วล่ะ
          อาจมีคนหมั่นไส้คิดว่า นี่คือการคุยโม้ ต้องเรียนว่างานวิจัยชิ้นแรกของเราที่ทดลองนำเอา 1-5 Piano มารักษาโรคในคนแก่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Music & Medicine ฉบับเดือนมกราคม 2555 แล้ว ใครอยากอ่านพิมพ์ Khemthong, Pejarasangharn, et al., Effect of Musical Training on Reaction Time : A Randomized Control Trial in Thai Elderly Individuals, Music & Medicine 2012 ได้เลย
          จะได้รู้ว่าคุณค่าของดนตรีนั้นมากมายยิ่งนัก อย่าได้มองข้ามเป็นอันขาด

pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved