HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 15/08/2556 ]
เมื่อลูกน้อยเป็นเด็ก 2 บุคลิก

 พูดถึงเด็กหลายบุคลิก ถือเป็นโรคจิตเวชอย่างหนึ่งที่เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ที่บุคคลคนหนึ่งจะมีบุคลิกภาพแตกต่างกันตั้งแต่ 2 บุคลิกขึ้นไป สลับเปลี่ยนกันมีบทบาทต่อพฤติกรรม โดยในช่วงนั้นผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวในการแสดงออกถึงพฤติกรรม อารมณ์ ที่ไม่สามารถแสดงออกได้ตอนที่อยู่ในสภาวะปรกติ
          แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะสำหรับเด็กที่มี 2 บุคลิกนั้นไม่ได้เป็นโรคที่รักษายากอย่างนั้น เขาอาจเป็นเพียงเด็กสมาธิสั้นเท่านั้นเอง ซึ่งเด็กที่มี 2 บุคลิกจะเป็นเด็กที่มีสมาธิสั้น ซนระเบิด คุยกระจายที่โรงเรียน แต่กลับเงียบและเก็บกดยามเมื่ออยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน ช่างเป็น 2 บุคลิกที่ไม่น่าไปด้วยกันได้
          หลายคนแย้งว่าเด็กสมาธิสั้นจะเงียบหงิมได้อย่างไร สำหรับคำตอบของแพทย์นั้นสามารถตอบ ได้ว่า เพราะเด็กคนนั้นไม่ได้สมาธิสั้นตลอดเวลา แต่บางครั้งจะเป็นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นที่หากมีสิ่งที่สนใจเป็นพิเศษ เขาก็จะสามารถจดจ่อ เพ่งสมาธิได้นานเหมือนคนอื่นๆ และหากอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกควบคุม เขาก็สามารถที่จะนิ่ง ไม่วิ่งไปมา หรือไม่พูดมากได้
          ภายในใจของเด็กน้อยที่มีลักษณะเช่นนี้สุดแสนจะทุกข์ เพราะพ่อแม่ไม่เข้าใจ เนื่องจากพ่อแม่เห็นว่าต้องกำราบให้อยู่ ไม่งั้นความซนจะทำให้ลูกก่อเหตุไม่ดีเหมือนที่เคยทำมาสารพัด ทั้งเอาของเล่นไปทิ้ง ซ่อนรองเท้าเพื่อน ล้อเลียนครู หรือมีความคิดไปเองว่าตัวเองไม่มีแม่มีพ่อตั้งแต่แรกเกิด และบางครั้งก็อาจจะโดนคุณปู่คุณย่าตามใจจนทำให้เสียเด็ก ด้วยเหตุนี้จึงต้องเอามากำราบด้วยตนเอง
          แต่สำหรับการแก้ไขปัญหาของอาการที่แท้จริงของเด็กที่มี 2 บุคลิกนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่า ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มจากการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กก่อน เพราะอาจจะนานมากแล้วที่พ่อหรือแม่ไม่เคยได้กอดกัน ไม่เคยนอนคุยด้วยกัน ดังนั้น จึงต้องสร้างกิจกรรมให้พ่อแม่กับลูกน้อยได้อยู่ด้วยกัน
          กิจกรรมที่ทำร่วมกันอย่างมีความสุขจะทำให้ดวงใจทั้ง 3 ดวงได้เห็นความดีของกันและกันมากขึ้น สร้างความยอมรับของพ่อแม่ที่มีในตัวลูกน้อย แล้วค่อยๆชี้ให้เห็นธรรมชาติของโรคสมาธิสั้นที่มีผลต่อพฤติกรรมบางอย่างของเด็ก
          แม้จะต้องอาศัยการฝึกระเบียบจากผู้ดูแล แต่เด็กก็ยังมีความเป็นเด็กทั่วไปที่ต้องการความรัก การยอมรับ ความเข้าใจ ความใส่ใจจากพ่อแม่ ขั้นต่อไปแพทย์อาจต้องฝึกทักษะการฟังอย่างตั้งใจให้พ่อแม่ลองปฏิบัติ เพราะบ่อยครั้งที่พ่อแม่เองอาจไม่เคยมองเห็นคำพูดอันแสนฉลาดของลูก เพราะแทบไม่ฟังความคิดเห็นของลูก ซึ่งก็อาจจะทำให้พ่อแม่ได้เห็นเสียทีว่าลูกน้อยนั้นฉลาดพูดเพียงใด ไม่แน่ต่อไปเมืองไทยอาจมีกวีเอกอีกสักคนที่เป็นโรคสมาธิสั้นก็ได้


pageview  1206089    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved