HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 18/07/2556 ]
ระวัง'วัยทอง'!

  อาการหงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน มักเป็นภาพของ "สาววัยทอง" ที่หลายคนคงเดาอาการออกและคิดว่าภาวะแบบนี้ผู้ชายจะไม่มี แต่ความจริงแล้วไม่ว่าเพศใดก็ตาม เมื่อเข้าสู่วัยทองร่างกายและอารมณ์จะมีปฏิกิริยาคล้ายๆกัน ซึ่งบุรุษเพศทั้งหลายบางทีอารมณ์อาจจะขึ้นๆลงๆยิ่งกว่าผู้หญิงเสียด้วยซ้ำ
          "ภาวะวัยทองในผู้ชาย" เป็นผลจากการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนของอัณฑะที่ลดน้อยลง ส่งผลไปยังการทำงานของกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆในร่างกาย ซึ่งนายแพทย์อรรถสิทธิ์ อมรถนอมโชค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า วัยทองในผู้ชายจะเกิดได้ช้ากว่าในผู้หญิง แต่ปัจจุบันเราพบว่าภาวะเร่งรีบจากการทำงาน ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงขาดการออกกำลังกาย ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ได้กลายเป็นปัจจัยที่เร่งให้ผู้ชายเกิดภาวะวัยทองมากขึ้น จากเดิมที่เคยพบในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ปัจจุบันอายุเพียง 30 ปลายๆ บางท่านก็อาจจะเริ่มมีอาการวัยทองได้
          ทั้งนี้ อาการของผู้ชายในวัยทองนั้นจะมีอยู่ 3 กลุ่มอาการที่สังเกตได้ง่ายๆคือ 1.กลุ่มอาการทางด้านเพศ เช่น สมรรถภาพทางเพศลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวไม่เต็มที่ ความต้องการทางเพศลดลง และอื่นๆ 2.กลุ่มอาการทางด้านร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อส่วนต่างๆเล็กลง อ้วนลงพุงมากขึ้น กระดูกบางจนถึงพรุน พละกำลังและความแข็งแรงลดน้อยลงไป อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไขมันในเลือดสูงขึ้น และ 3.กลุ่มอาการทางด้านอารมณ์ เช่น ท้อแท้กับชีวิต ซึมเศร้า หดหู่ หรือแม้แต่คิดทำร้ายตัวเอง
          การแสดงออกของร่างกายและอารมณ์เป็นเพียงการสันนิษ ฐานเบื้องต้นว่าอาจกำลังเข้าสู่วัยทอง ถ้าอยากรู้ว่าเป็นหรือไม่ต้องได้รับการตรวจวัดดูระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ซึ่งจะมีการตรวจทั้งในรูปแบบปริมาณฮอร์โมนทั้งหมด (total form), ฮอร์โมนอิสระที่ออกฤทธิ์ (free form) และฮอร์โมนที่พร้อมใช้งาน (bio available form) ซึ่งการตรวจทั้ง 3 แบบ จะช่วยวัดผลได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากบางครั้งแม้ว่าผู้ชายบางคนจะมีระดับฮอร์โมนทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ปรกติ แต่ผลฮอร์โมนอิสระหรือฮอร์โมนที่พร้อมใช้งานต่ำกว่าที่ควรจะเป็นก็เข้าข่ายภาวะวัยทองได้
          นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างอื่นประกอบด้วยเพื่อช่วยประเมินว่าภาวะวัยทองส่งผลกระทบต่อสุขภาพจนทำให้เกิดโรคแล้วหรือยัง เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ตรวจน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจดูค่ามะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจมวลกระดูกและอื่นๆ รวมทั้งตรวจดูระดับฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตที่ชื่อว่า DHEAS (dehydroepiandrosterone) ด้วย เพราะฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนตั้งต้นก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งพบว่าบางครั้งภาวะเครียดจากการทำงาน และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้มีการผลิตฮอร์โมน DHEAS ลดลงได้
          ใครที่คิดว่าตัวเองมีปัญหาควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที


pageview  1205475    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved