HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 18/07/2556 ]
ดนตรีกับโรคอัมพาต

 นพ.อุดม เพชรสังหาร editor@LokWanNee.com
          การที่สังคมไทยกลายเป็นสังคม ผู้สูงอายุ ทำให้โรคที่เกิดจากความชราเริ่มกลายเป็นปัญหาสำคัญในทางการแพทย์และสาธารณสุข และโรคหลอดเลือด สมองก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เป็นผลเนื่องมาจากความชรา คนที่อายุล่วงเข้าเลข 5 เลข 6 ขึ้นไปคงได้ยินบ่อยว่า เดี๋ยวเพื่อนฝูง ญาติมิตรคนนั้นคนนี้ เส้น เลือดในสมองอุดตัน เส้นเลือดในสมองแตก กลายเป็นอัมพาตครึ่งซีกหรือพูดไม่ได้ไปแล้ว
          ทุกวันนี้การแพทย์ก้าว หน้าไปมาก การที่ผู้ป่วยเส้น เลือดในสมองแตกหรืออุดตันจะเสียชีวิตนั้นไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อนครับ หมอเขามีวิธีช่วยชีวิตคนไข้ได้ดีทีเดียว แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสภาพ ของตนเองให้กลับมาดังเดิมได้ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับของเดิมให้มากที่สุด
          พูดง่ายๆคือ ให้เดินได้เหมือนเดิม พูดได้เหมือนเดิม สองเรื่องนี่แหละครับคือปัญหา เพราะกระทบกับสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเอามากๆทีเดียว แถมยังทำให้คนที่คอยบริบาลดูแลแย่ไปด้วยอีกคน (หรือหลายๆคน)
          การทำกายภาพบำบัด การฝึกพูด และการทำกิจกรรมบำบัด คือวิธีการสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยเหล่านี้ให้กลับมาเดิน พูด หรือทำกิจวัตรประ จำวันได้เหมือนเดิม
          แต่ปัญหาก็คือ เรามีนักกายภาพบำบัด นักฝึกพูด นักกิจกรรมบำบัดอยู่สักกี่คนทั้งประเทศ บอกได้เลยครับว่านับจำนวนได้ ในขณะที่ผู้ป่วยลักษณะนี้เพิ่มขึ้นทุกวัน อีกอย่างการที่จะพาผู้ป่วยซึ่งเป็นอัมพาตไปพบนักบำบัดเหล่านี้ทุกวันเพื่อทำกายภาพบำบัด ฝึกพูด หรือทำกิจกรรมบำบัด ตามตารางนัดหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เป็นภาระอย่างมาก ใครที่มีญาติเป็นอัมพาตต้องดูแล ต้องพาไปทำกายภาพบำบัด จะรู้ดีว่าหนักหนาสาหัสแค่ไหน บางครอบครัวที่มีพ่อแม่ป่วยเป็นอัมพาตถึงขนาดต้องมีลูกคนหนึ่งลาออกจากงานเพื่อให้การบริบาลดูแลผู้ป่วยแบบตลอด 24 ชั่วโมง
          ความรู้ใหม่ๆด้านประสาท วิทยาศาสตร์ช่วยให้เรามีทางออก ในเรื่องนี้มากขึ้นครับ
          กลุ่มนักวิจัยจากมหา วิทยาลัยเวสเทิร์นมิชิแกน โดยการนำของมิเชล เทาต์ ได้ทำการศึกษาพบว่า ดนตรีมีคุณ สมบัติในการกระตุ้นการทำงานของสมองได้หลายด้าน และสามารถนำมาใช้กระตุ้นสมองในผู้ป่วยอัมพาตได้ โดยดนตรีจะไปกระตุ้นให้สมองส่วนที่ยังไม่เสียหายจากร่องรอยของโรคให้พัฒนาตนเองมาทำหน้าที่ ที่เสียหายไปแทน เช่น การพูด การเดิน การเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น พวกเขาตั้งชื่อวิธีการนี้ว่า "การบำบัดสมองด้วยดนตรี" (Neurologic Music Therapy)และเปิดเป็นหลักสูตรเพื่อถ่าย ทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา
          มีบางกรณีที่เราสามารถนำความรู้ที่ว่านี้มาประยุกต์ใช้ด้วยตัวของเราเองที่บ้านได้ เพื่อเป็นการเสริมการรักษาโดยนักกายภาพบำบัด หรือนักฝึกพูด เพราะการไปพบนักบำบัดเหล่านี้ทุกวันหรือทุกสัปดาห์ไม่ใช่เรื่องง่าย
          อย่างเรื่องการฝึกเดิน เขาพบว่าการฝึกเดินโดยใช้จัง หวะดนตรีที่มีทำนองด้วยมากระตุ้นจะทำให้ผู้ป่วยฝึกเดินได้ดีขึ้น และฟื้นตัวได้ดีกว่าการฝึกเดินแบบแห้งๆ ไม่มีเสียงและจังหวะเพลงประกอบ ที่เป็นเช่นนี้เขาอธิบายว่า เสียงและจังหวะของดนตรีจะกระตุ้นระ บบประสาทการได้ยินของเราให้เกิดการสร้างวงจรสมองเชื่อมโยงกับสมองส่วนต่างๆที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่แทนวงจรเดิมที่ถูก (โรคหลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก) ทำลายไป จังหวะของดนตรีจะทำหน้า ที่เหมือนคอนดัคเตอร์ของวงดนตรีที่ควบคุมให้สมองส่วนต่างๆที่ว่านี้ทำงานประสานกันอย่างกลมกลืน ในขณะที่ทำ นองของเพลงก็จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเบื่อที่จะฝึกฝนตัวเอง ในที่สุดวงจรสมองวงจรใหม่ก็จะมีความสมบูรณ์แข็งแรง และผู้ป่วยก็สามารถเดินได้ในที่สุด
          กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิท ยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้ทดลองนำวิธีนี้ไปใช้กับผู้ป่วยญี่ปุ่นด้วยเหมือนกัน และเขาก็พบว่าผู้ป่วยสามารถฝึกเดินได้ดีกว่าวิธีการฝึกเดินแบบดั้งเดิมที่ใช้อยู่ทั่วไป พวกเขาเรียกวิธีการนี้ว่า การฟื้นฟูการเดินโดยการกระตุ้นการได้ยินด้วยเสียงที่มีจังหวะ (Rhythmic Audi tory Stimulation : RAS)
          ใครที่มีญาติที่เป็นอัมพาตและกำลังฝึกเดินอยู่จะลองนำวิธีการนี้ไปใช้ดูก็ได้นะครับ หาเพลงจังหวะกำลังดีที่เข้ากับการเดินของผู้ป่วยมาเปิดให้ผู้ป่วยฟังเวลาฝึกเดิน แค่นี้ก็ช่วยผู้ป่วยได้เยอะทีเดียว
          อีกเรื่องที่มีการนำดนตรีมาใช้ก็คือการฝึกพูดครับ โดยทั่วไปประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตกจะมีปัญหาพูดไม่ได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยและญาติเครียดมาก เพราะสื่อสารกันลำบาก เขาทำการฟื้นฟูการพูดของผู้ป่วยโดยการให้ผู้ป่วยฟังเพลงที่มีคำพูดง่ายๆแล้วให้ผู้ป่วยพยา ยามร้องตาม เหมือนกับที่เราร้องคาราโอเกะนั่นแหละครับ แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ เขาให้ผู้ป่วยเคาะมือซ้ายตามจังหวะของเพลงไปด้วย วิธีการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยฝึกพูดได้เร็วขึ้น และเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ยังพอออกเสียงอือๆออๆได้บ้าง
          เขาอธิบายว่า การที่ผู้ป่วย พูดไม่ได้เป็นเพราะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงศูนย์ควบคุมการพูดในสมองฝั่งซ้ายของผู้ป่วยอุดตันหรือแตก เลยทำให้ศูนย์ควบคุมการพูดเสียหายไป และทำให้ผู้ป่วยมีอาการอัมพาตทางซีกขวา ของร่างกายด้วย (สมองซีกซ้ายคุมการเคลื่อนไหวร่างกายซีกขวา) แต่ศูนย์ควบคุมการพูดของเราจะมีอยู่ทางฝั่งขวาด้วย เพียงแต่คนส่วนใหญ่ถนัดขวา ศูนย์ควบคุมการพูดในฝั่งนี้จึงไม่ค่อยได้ใช้งาน
          ดังนั้น เมื่อศูนย์ควบคุมหลักถูกทำลายไปจากโรค เราจึงต้องกระตุ้นให้ศูนย์สำรอง (ซึ่งอยู่ทางด้านขวา) กลับมาทำงานอีกครั้ง การเคาะจังหวะตามจังหวะเพลงด้วยมือซ้ายคือการกระตุ้นสมองฝั่งขวาให้ตื่นตัว และเกิดการฟื้นตัวของศูนย์ควบคุมการพูดสำรอง และเมื่อถูกกระตุ้นนานเข้า วงจรควบ คุมการพูดอันใหม่ก็จะก่อรูปและแข็งแรงขึ้น ในที่สุดผู้ป่วยก็จะพูดได้อีกครั้ง
          ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความเข้าใจในเรื่องสรีรวิทยาของสมองว่าเกี่ยวข้องกับดนตรีอย่างไร จนทำให้สามารถนำดนตรีมาใช้เพื่อการฟื้นฟูความพิการต่างๆของคนเราได้ และทั้งสองวิธีที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก
          ไม่แน่นะครับ เราอาจได้ใช้สิ่งนี้กับญาติสนิทมิตรสหายของเราบ้างก็ได้ เพราะตอนนี้โรคที่ว่านี้มันชุกชุมจริงๆ
          เกิดจากความเข้าใจเรื่องสรีรวิทยาของสมอง ว่าเกี่ยวข้องกับดนตรีอย่างไร  จนทำให้สามารถนำดนตรีมาใช้เพื่อการฟื้นฟูความพิการต่างๆได้
 


pageview  1205479    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved