HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 25/06/2556 ]
กิน-อยู่...ให้'ไต'ดี

สิริรัตน์ วารี
          editor@LokWanNee.com
          "you are what you eat" หรือ "กินอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น" เป็นสิ่งที่สะท้อนได้ชัดเจนว่า "พฤติกรรมการบริโภคอาหารมีส่วนสัมพันธ์กับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเราในภายหลัง"
          ในทางกลับกันหากเราเลือกบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว กิจวัตรประจำวัน รวมทั้งเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่าง กาย นอกจากจะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีแล้วยังเป็นแนวทางป้องกันโรคที่ดีได้ หรือแม้ว่าเป็นโรคแล้วแต่เลือกอาหารให้ถูกกับโรคที่เป็นยังช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนและช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
          ทั้งนี้ โรคที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่พบบ่อยอย่างหนึ่งในคนไทย ได้แก่ "โรคไตวายเรื้อรัง" ซึ่ง ผศ.ดร. ชนิดา ปโชติการ นายกสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้ว่า ผู้ที่เป็นโรคไตมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่บริโภค เช่น อาหารมีรสเค็มจัดและอาหารที่ไม่สะอาด
          ดังนั้น การบริโภคอาหารให้ห่างไกลโรคไตนั้นควรเริ่มจากตัวเรา ก่อน โดยการปรับพฤติกรรมการบริโภค เริ่มจากลดปริมาณลงไม่ให้เกินความต้องการของร่างกาย หลีก เลี่ยงอาหารไขมันสัตว์และโคเลสเตอรอลสูง นอกจากนี้ต้องเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดเกินไป เช่น หวานจัด เค็มจัด และอาหารที่มีกะทิ เพื่อป้อง กันโรคอ้วน ซึ่งจะเป็นสาเหตุไปสู่โรคอื่นๆตามมา เช่น เบาหวาน ความ ดันโลหิตสูง และไขมันอุดตันในเส้น เลือด ที่กลายเป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคไตเรื้อรังตามมาเป็นลูกโซ่ พร้อมทั้งดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง
          สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วต้องระวังไม่ให้โรครุน แรงไปมากกว่าเดิม ซึ่งนอกจากทาน ยาตามแพทย์สั่งและบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องหรือฟอกเลือดอย่างสม่ำเสมอแล้ว อาหารสามารถมีส่วนช่วยบำบัดอาการของโรคไตได้ด้วย จึงต้องเลือกอาหารให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะทุพโภชนาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้
          ผศ.ดร.ชนิดาอธิบายว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ล้างไตด้วยการฟอกเลือดหรือการล้างไตผ่านทางช่องท้องอาจเกิดภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีนที่เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมร่างกายและสร้างภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ผู้ป่วยแต่ละคนควรมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกรับประทานอาหาร เพื่อให้ได้รับสารอาหารโปรตีนและพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตจะต้องรับการประเมินภาวะโภชนาการ ได้แก่ น้ำหนักตัว ผลทางชีวเคมีของเลือด เช่น อัลบูมิน (วัดโปรตีนในเลือด) การประเมินอาการทางคลินิก และการประเมินการบริโภค และนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรึกษานักกำหนดอาหาร/นักโภชนาการ เพื่อจะได้กำหนดปริมาณและบริโภคอาหารให้ถูกต้องเหมาะสมกับที่ร่างกาย ต้องการ โดยต้องทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งเนื้อสัตว์ ข้าว แป้ง ไขมันที่ดี รวมทั้งผักและผลไม้ แต่ต้องทานใน ปริมาณที่นักกำหนดอาหารแนะนำ
          ในส่วนของอาหารประเภทโปรตีนควรเน้นปลาที่ย่อยง่ายและมีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลสูง เช่น อาหารทะเล หมูสามชั้น หนังเป็ด หนัง ไก่ เครื่องในสัตว์ และเนื้อสัตว์แปร รูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ไข่เค็ม และอาหารทะเลแช่แข็ง เพราะอาหารเหล่านี้มีเกลือแร่ที่ชื่อโซเดียม ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าการบริโภคโซเดียมเกินกว่าที่กำหนดมีผลต่อความ ดันโลหิตสูง ส่งผลให้หลอดเลือดต่างๆเสื่อมได้ง่ายขึ้น
          ขณะเดียวกันควรทานอาหารที่ปรุงด้วยวิธีต้ม นึ่ง และย่าง หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมัน เพื่อลดภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือดที่จะนำไปสู่โรคหัวใจ ลดขนมเบเกอรี่ ขนม ปัง ซึ่งใช้ผงฟูที่มีโซเดียมแฝงอยู่ โดยผงฟูมีเกลือแร่ชื่อฟอสฟอรัส ซึ่ง มีผลให้กระดูกเปราะในผู้ป่วยไตเรื้อ รังถ้าบริโภคมากเกินไป เลี่ยงอาหารหมักดองและอาหารที่ย่อยยาก
          นอกจากนี้ควรดื่มน้ำปริมาณเท่ากับปริมาณปัสสาวะต่อวันที่ขับออกมา บวกกับน้ำ 500 ซี.ซี. แต่จำกัดน้ำดื่มเมื่อมีอาการบวม และหลีกเลี่ยงชา กาแฟ ช็อกโกแลต และน้ำอัดลม เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีทั้งโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณค่อนข้างสูง รวมถึงงดดื่มสุราและสูบบุหรี่
          สุดท้ายหากเป็นไปได้ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเบาๆร่วมด้วยเพื่อช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าและช่วยควบคุมความดันเลือดได้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ผ่องใส
          จะเห็นได้ว่ามีกฎเกณฑ์ที่เป็นอาหารต้องห้ามและที่ควรบริโภคมากมายสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง แต่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลไม่ควรละเลย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไร้โรคแทรกซ้อนรบกวน ไม่แย่ลง หรือช่วยให้ควบคุมโรคได้นั่นเอง


pageview  1205868    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved