HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
โลกวันนี้ [ วันที่ 14/05/2555 ]
โรคยุคไฮเทค'ขาดมือถือไม่ได้'

 ท่ามกลางความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสื่อสารในปัจจุบัน แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ในเวลาเดียวกันได้ทำให้เกิดโรคแปลกๆขึ้นหลายอย่างที่สัมพันธ์กันกับการมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฮเทคใช้อำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน เช่น มีโรคติดเน็ต โรคติดเกม หรือโรคนิ้วล็อก และที่กำลังมาแรงไม่แพ้กันคือ "โรคกลัวไม่มีมือถือใช้" หรือ "โรคขาดมือถือไม่ได้" โรคไฮเทค
          ที่ผ่านมากล่าวได้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่าง รวดเร็ว แต่ในเวลาเดียวกันได้นำปัญหาตามมาด้วยหลายอย่าง เช่น โรคติดเน็ต ติดเกม โรคนิ้วล็อก ข้อมืออักเสบหรือโรคบีบีวิชั่นซินโดรม ที่เป็นอาการล้า ปวดตา เมื่อยตา เนื่องจากการ "แช็ต" ส่งข้อความตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ในหลายประเทศทั่วโลก
          ความจริงแล้วปัญหาดังกล่าวคงจะไม่ร้ายแรงนักหากไม่ได้เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กๆและเยาวชน ที่ยังไม่รู้จักควบคุมตนเอง และแยก แยะการทำกิจกรรมของตัวเองได้ว่าควรจะเล่นเกมเวลาใด ในระยะเวลาที่เหมาะสม จึงเกิดเหตุการณ์เล่นตลอดวันตลอดคืน จนพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงนำไปสู่ปัญหาสุขภาพและกระทบกิจกรรมหลัก คือการเรียนตามมาได้ จนบางประเทศ เช่น จีนและเกาหลีใต้ถึงกับต้องเปิดค่ายบำบัดเด็กติดเกม ติดเน็ต คล้ายๆกับค่ายบำบัดยาเสพติดอย่างไงอย่างงั้น
          ในขณะที่มีผู้ใช้มือถือกันทั่วโลกและมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ที่ 6 ไปแล้วนั้น จึงไม่แปลกที่จะมี "โรคขาดมือถือไม่ได้" หรือ "กลัวการไม่มีมือถือใช้" ที่เรียกว่า "Nomophobia" ฮิตด้วยเหมือนกัน โดยจากตัวเลขการสำรวจของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ช่วงต้นปี 2011 พบว่า เวลานี้ทั่วโลกมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือกันเกินกว่า 5,000 ล้านคนเข้าไปแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากยอดเพียง 500 ล้านคนในปี 2000 เป็นตัวเลขที่โตขึ้นพร้อมๆกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมาเป็น 2,000 ล้านคน  จาก 250 ล้านคน
          คนส่วนใหญ่ขาดมือถือไม่ได้
          เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท Secur Envoy ในอังกฤษ ได้ออกมาตอกย้ำการติดมือถือของชาวโลกอีกว่า จากการสำรวจตัวอย่างซึ่งเป็นชาวอังกฤษ 1,000 คน พบว่ามีมากถึง 66% ที่เปิดเผยว่ารู้สึก "กลัวการไม่มีมือถือ" ต้องใช้มือถือตลอดเวลา ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 53% ของการสำรวจเมื่อ 4 ปีก่อน หรือในปี 2008 ที่ผ่านมา
          ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้นคือวัย 18-24 ปี มีแนวโน้มติดมือถือเข้าข่ายรุนแรงที่สุด โดยมีมากถึง 77% เลยทีเดียวที่แทบจะไม่สามารถอยู่ห่างจากมือถือได้นานแม้เพียง 2-3 นาที ส่วนกลุ่มถัดมาเป็นช่วงอายุ 25-34 ปี ที่มีถึง 68% มีอาการแบบเดียวกัน
          นอกจากนี้ในการศึกษายังพบด้วยว่า ผู้ใช้มือถือจะตรวจสอบการใช้งานมือถือของตนเฉลี่ยมาก ถึง 34 ครั้งต่อวัน โดยที่มีตัวเลขสูงถึง 75% ยอมรับว่าใช้มือถือแม้ในขณะเข้าห้องน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่มอง ว่ามือถือเปรียบเสมือนหนังสือพิมพ์สมัยใหม่ที่ให้ผู้ใช้รอบรู้ทันข่าว ไม่ ตกข่าว
          มือถืออัพเกรด-ลูกเล่นพราว
          การสำรวจดังกล่าวแม้ทำในอังกฤษ แต่ก็คงมีสภาพไม่ต่างไปจากประเทศอื่นๆ และเมื่อมองภาพรวมพอจะประเมินได้ว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คนติดมือถือเพิ่มนั้น เป็นผลมาจากการแข่งขันกันยกระดับคุณภาพ พร้อมลูกเล่นแพรวพราวของมือถือรุ่นใหม่ๆ หรือที่ยกชั้นเป็น "สมาร์ตโฟน" โดยมีการพัฒนาฟังก์ชันแปลกใหม่ หรือมีจอสัมผัสที่ฉับไวขึ้น ความสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ฉับไว ราบรื่น ทำให้ง่ายในการเข้าพบปะเพื่อนๆในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ หรือแม้ แต่การมีแอพพลิเคชั่นใหม่ๆเกิด ขึ้นมากมาย เพื่อรองรับการใช้งานได้หลากหลาย เช่น ถ่ายภาพ แต่งภาพ และแชร์บนเครือข่ายออนไลน์ เป็นต้น
          ความโดดเด่นในคุณสมบัติต่างๆเหล่านี้เอง ทำให้สมาร์ตโฟนของหลายค่ายสามารถดึงเหล่าสาวกมาซบได้อย่างรวดเร็ว เช่น ค่ายแอปเปิล ซัมซุง และอื่นๆอีกหลายค่าย โดยเฉพาะแอปเปิลและซัมซุงนั้นเพิ่งควงแขนกวาดส่วนแบ่งตลาดสมาร์ตโฟนรวมกันไปได้มากถึง 99% จากการสำรวจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2012 โดย Asymco ซึ่ง แอปเปิลกวาดไป 73% อีก 26% เป็นของซัมซุง เหลือเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆให้ค่ายอื่นๆ
          นาทีนี้คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า "Nomophobia" คงไม่หมดไปง่ายๆ มีแต่จะเห็นกันไปอีกนานจนเป็นภาพที่ชินตาเสียมากกว่า


pageview  1205114    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved