HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
พิมพ์ไทย [ วันที่ 21/11/2556 ]
แพทย์เตือนผู้ปกครองลดการใช้ยาปฏิชีวนะในเด็ก
 นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวเรื่อง"การรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในเด็ก : Antibiotics Smart Use in Children (ASU KIDs)" เนื่องในวัน Antibiotic Awareness Day ซึ่งตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายนของทุกปี  ว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลเด็ก ได้ทำการศึกษาวิจัยโดยติดตามประเมินผลการรักษาผู้ป่วยเด็กที่ผู้ปกครองพามารักษาด้วยอาการไข้หวัด-เจ็บคอและท้องเสีย จำนวน 400 ราย ระหว่างเดือนสิงหาคม-15 พฤศจิกายน 2556 โดยสถาบันฯได้ทำการรักษาตามอาการโดยไม่จ่ายยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วย ซึ่งเห็นผลว่า ผู้ป่วยเด็กมีอาการดีขึ้น ภายใน 3 วัน 91.5% โดยมีอัตราการหายใกล้เคียงกันในกลุ่มที่ได้รับยาและไม่ได่รับยาปฏิชีวนะ คือเกินกว่า 90% ส่วนผู้ป่วยท้องเสียอาการดีขึ้นใน 3 วัน 86.9% โดยผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาปฏิชีวนะมีอัตราการหายอยู่ที่ 87% สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาซึ่งอยู่ที่ 81%
          "ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไข้หวัด-เจ็บคอ ซึ่งมักพบบ่อยในเด็ก 2-5 ปี เป็นโรคที่สามารถหายเองได้โดยภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กรับประทานยามากเกินไป โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ  อีกทั้งยังเป็นอันตรายอาจทำให้เด็กแพ้ยาเพิ่มความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่สำคัญคืออาจเหนี่ยวนำให้เด็กเกิดเชื้อดื้อยาซึ่งว่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาวอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้" นพ.สุพรรณ กล่าว
          ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้ยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าในปี2552 มูลค่าการผลิตและนำเข้าของกลุ่มยาฆ่าเชื้อและยาปฏิชีวนะ มีค่าประมาณ22,900 ล้านบาท โดยยาปฏิชีวนะคิดเป็น 10,940 ล้านบาท ส่วนสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล เช่น การซื้อยาใช้เอง การร้องขอยาจากแพทย์ การใช้ยาผิดข้อบ่งชี้ทำให้เกิดวิกฤตปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งทวีความรุนรงมากขึ้นและจากการที่ประชาชนมีความรู้ความเช้าใจเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะในบางประเด็นที่ไม่ถูกต้อง  ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมปัญหาการดื้อยา จึงควรปฏิบัติใน 3 มาตรการ คือ ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีจำเป็นเท่านั้น 2.ควรกินยาปฏิชีวนะให้ครบขนาดตามที่แพทย์สั่งและ 3.ใช้อย่างสมเหตุสมผลไม่ใช้ยาปฏิชีวนะแรงเกินไป

pageview  1205867    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved