HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
พิมพ์ไทย [ วันที่ 25/05/2555 ]
มะเร็งปากมดลูก..โรคร้ายภัยหญิงหยุดได้ด้วยการฉีดวัคซีนฯเตรียมเสนอครม.เป็นวาระแห่งชาติ

"มะเร็งปากมดลูก" ภัยร้ายอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตผู้หญิง เป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งยังเป็นกลุ่มโรคที่คนทั่วไปหวาดกลัว เพราะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ได้มีการคิดค้น"วัคซีนป้องกัน" ได้ในระดับหนึ่ง
          องค์กรอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกมีผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกปีละ 275,000 ราย สาเหตุของมะเร็งชนิดนี้ ร้อยละ 80 เกิดมาจากเชื้อไวรัสฮิวแมนแพ็ปพิลโลมาไวรัส หรือเชื้อ HPV ชนิดก่อมะเร็งที่บริเวณปากมดลูก ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ การป้องกันทำได้ 2 วิธี ฉีควัคซีน กับ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ เพื่อรักษาแต่เนิ่นๆ
          ชลพรรษา นารูลา ผู้ประกาศข่าวภาคเที่ยงช่อง 3 ให้มุมมองในฐานะคุณแม่ที่มีลูกสาวว่า หากเอ่ยคำว่า มะเร็ง เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก คนรู้จักใกล้ตัวเป็นกันเยอะ ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งกระดูกมะเร็งเต้านม บางคนดูแลตัวเองดี กินดีใช้ชีวิตดีก็ยังเป็น กลัวมากที่สุด คือ มะเร็งกระดูก ทรมานมาก อยากจะบอกว่าโรคภัยไข้เจ็บป้องกันได้ แต่ถึงเวลาจะเป็นหรือเปล่ามันเลือกไม่ได้ ที่ดีที่สุด คือใช้ชีวิตให้มีความสุขอย่าประมาทสำหรับ มะเร็งปากมดลูกเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัว ผู้หญิงเป็นกันเยอะ  มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี เคยชลพรรษาถามคุณหมอในช่วงแรกที่เอาวัคซีนมาให้ ราคายังสูงหลักหมื่น ผ่านมาถึงวันนี้ราคาแค่หลักพันบาท สำหรับแนวคิดการนำวัคซีนป้องกันไวรัสเอสพีวี ฉีดป้องกันในเด็กหญิงไทยอายุ 12 ปีที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่6  เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะการป้องกันก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
          สุประวัติ ปัทมสูต นักแสดงและผู้กำกับชื่อดังได้ย้อนความรู้สึกในฐานะพ่อผู้สูญเสียลูกสาวอันเป็นที่รักกุ้งนาง ปัทมสูต  ว่า  รับรู้ได้ถึงความเข้มแข็งของลูกสาวที่สู้โรคร้ายด้วยความมีสติ มุมานะพยายามที่จะรักษามันจนหาย แต่มันไม่ได้จบเพียงแค่นั้น มีสติก็จริงแต่หลังจากนั้นก็มีมะเร็งอีกชุดหนึ่งไปเกิดขึ้นในจุดที่ถูกอวัยวะอย่างอื่นบังเป็นที่กระดูกเชิงกราน คีโมที่ใช้ก็เข้าไปไม่ถึง กลายเป็นเรื่องใหญ่"ช่วงแรกกุ้งนางก็ไม่บอกใคร พยายามรักษาตัวเองด้วยสติอีกครั้ง เพียงแต่ว่ายากกว่าครั้งเก่า แล้วเธอก็คิดว่าคงจะเป็นเช่นนั้น  แต่สุดท้ายคุณหมอจำเป็นต้องบอกญาติ ทำให้คนที่แย่ที่สุดกลายเป็นญาติที่กุ้งนางไม่ได้บอกกล่าว เรารู้สึกเจ็บปวดเรามองลูกว่าเธอเข้มแข็งเหลือเกิน แล้วมองกลับไปที่กุ้งนางที่มองว่า พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา พี่น้องอย่าคิดอะไรมากมายเลยเดี๋ยวมันก็หาย คิดดูใจเราจะเป็นอย่างไร"สุประวัติกล่าว
          สำหรับเรื่องวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ในมุมมองพ่ออี๊ดคิดว่าการป้องกันเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุดทำนองเดียวกันสำหรับคนป่วย ถ้ารู้ว่าป่วยก็ต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นไปอีกสิบเท่า ซึ่งโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกำลังเงินและกำลังใจ
          น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุขเจ้าของโครงการ"ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้เด็กหญิง ป.6" กล่าวว่า เมืองไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 10,000 ราย ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหานี้ลดลงอย่างชัดเจนแต่ ในประเทศที่กำลังพัฒนา ยังพบโรคนี้เป็นสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตที่สำคัญของผู้หญิง
          ทั้งนี้ที่ผ่านมาอัตราการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกครอบคลุมผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป มีอยู่ราว 10 ล้านคน คัดกรองได้เพียงร้อยละ 70 เท่านั้นทำให้การควบคุมป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ผลดีไม่มากนัก ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากประเพณี ความเชื่อความเขินอาย ไม่กล้าพบแพทย์
          แนวคิดนำวัคซีนป้องกันไวรัสเอสพีวี ฉีดป้องกันในเด็กหญิงไทยอายุ 12 ปี และยังไม่มีเพศสัมพันธ์ทั่วประเทศปีละประมาณ 400,000 คน ฉีดคนละ 3 เข็ม จะป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ตลอดชีวิต ซึ่งจะลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกรายใหม่  เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ1,500 บาท และนำเสนอที่ประชุมครม.เร็วๆนี้ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายของชาติ
          หากป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกจะต้องใช้เวลารักษาติดต่อกัน 4-5 ปี ค่ารักษาประมาณ1ล้านบาทหากมีผู้ป่วย 10,000 ราย จะต้องใช้งบรักษามากถึง10,000 ล้านบาท และบางรายเป็นระยะสุดท้ายอาจไม่ได้ผล แต่ถ้าถ้าได้รับการฉีดวัคซีนจะมีราคาถูกกว่าถึง 17 เท่าตัว และในประเทศที่พัฒนาแล้วยกตัวอย่างเช่นอังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ปานามา รวมถึงมาเลเซีย ได้บรรจุการฉีดวัคซีนเป็นนโยบายวัคซีนแห่งชาติ ฉีดให้เด็กหญิงอายุ 12-13 ปีทุกคน พบว่าได้ผลดี ทำให้โรคลดลงอย่างชัดเจน
 


pageview  1205138    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved