HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 15/01/2557 ]
'ภาวะสมองเสื่อม'
 โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
          ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นจำนวนของผู้สูงอายุก็มีมากขึ้นทั่วโลก โรคที่พบในคนสูงอายุ เช่น ภาวะสมองเสื่อม ก็พบมากขึ้น ปัญหาในสังคมไทยคือ ญาติและผู้ป่วยไม่มีความรู้เรื่องสุขภาพ จึงปล่อยปละละเลยคิดว่าการหลงลืม เป็นเรื่องปกติของคนสูงอายุ ในครอบครัวไทยที่อบอุ่นลูกหลานช่วยทำกิจกรรมต่างๆ ให้จนทำให้ผู้ป่วยไม่ได้มีกิจกรรมด้วยตนเอง ก็จะสังเกตความเสื่อมถอยของสมองได้ช้าลง ดังนั้นการให้ความรู้แก่สังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
          ภาวะสมองเสื่อมหมายถึง
          การเสื่อมถอยลงของความสามารถของสมองในหลายๆ ด้าน เช่น ความจำ การดำรงชีวิตประจำวัน การใช้ภาษา การแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ใช่แค่ด้านความจำอย่างเดียว พบถึงร้อยละ 10 ในคนอายุมากกว่า 70 ปี และร้อยละ 20-40 ในคนอายุมากกว่า 85 ปี สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม ที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) รองลงมาคือ โรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองตีบ (Vascular dementia) อาการสมองเสื่อมที่พบร่วมกับอาการพาร์กินสัน (Parkinson's disease dementia และ Dementia with Lewy bodies) อื่นๆ เช่น จากเหล้า สารพิษ ยา การขาดสารอาหาร วิตามินบี 12 วิตามินบี 1 โรคทางอายุรกรรมหลายชนิดที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม เช่น ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ไตวาย ตับวาย ซิฟิลิสขึ้นสมอง และโรคติดเชื้อในสมองอื่นๆ บางชนิด หรือโรคทางศัลยกรรมบางชนิดที่ ให้อาการคล้ายสมองเสื่อม เช่น เลือดคั่งในชั้นเยื่อหุ้มสมอง (Chronic subdural hematoma) การมีน้ำคั่งในโพรงสมอง (Normal pressure hydrocephalus) และเนื้องอกในสมองบางชนิด
          โดยทั่วไปแพทย์จึงมักจะแบ่งสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมอย่างง่ายๆ ออกเป็น แบบ ที่รักษาหายได้ เช่น เลือดคั่งในชั้นเยื่อหุ้มสมอง (Chronic subdural hematoma) ขาด ไทรอยด์ฮอร์โมน ขาดสารอาหาร วิตามิน กับ ที่แบบรักษาไม่หายขาด เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองตีบ และโรคสมองเสื่อมที่ไม่พบสาเหตุชนิดอื่นๆ
          การตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยวินิจฉัย จึงมุ่งเน้นเพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่ให้อาการสมองเสื่อมที่สามารถรักษาได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็วก่อนที่สมองจะถูกทำลายมากเกินไป
          การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม ต้องใช้ข้อมูลหลายอย่างประกอบกัน ได้แก่
          * การถามประวัติอย่างละเอียดซึ่งต้องอาศัยข้อมูลประวัติจากญาติด้วยเสมอ
          * การตรวจร่างกาย ทั่วไป และทางระบบประสาท
          * การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย การตรวจเลือดเคมีในร่างกาย ไท รอยด์ฮอร์โมน ซิฟิลิส ระดับวิตามินในเลือด การตรวจ CT/MRI สมอง คลื่นสมอง และน้ำไขสันหลัง และอื่นๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร
          ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
          น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
 

pageview  1205893    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved