HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 24/12/2556 ]
ช่วงนี้ระวังภูมิแพ้กำเริบ!
  ความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ซ่านลงมาไทย ทำให้มวลความเย็นปกคลุมไปค่อนประเทศ...ยิ่งใครอยู่ดอยสูงยิ่งหนาวสะท้านกาย ยิ่งสูงยิ่งหนาวว่างั้นเถอะ คนกรุงอาจพึงพอใจในความหนาว เพราะเราอยู่ร้อนกันมานาน ทว่าชาวป่าชาวดอยเขาทรมานครับ
          เรายอมเสียเงินทองไปชมความงามของม่านหมอก ไม่กี่อึดใจก็กลับ แต่พี่น้องเพื่อนพ้องเหนือยอดดอยต้องอยู่ที่นั่นชั่วนาตาปี เขาไม่ชอบหรอกถ้ามันหนาวกระทั่งมีน้ำค้างแข็งคือ แม่คะนิ้ง หรือเหมยขาบจับใบหญ้า ใบไม้ ก็อยากขอให้ส่งแรงใจ ส่งเครื่องกันหนาวไปช่วยกันหน่อย
          และใครที่กำลังระเริงกับความเย็น ขอเตือนว่า อย่าหลงลืมความเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยมีได้ทุกฤดูกาล...ตอนนี้ระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคที่ต้องระวัง...ใครที่มีภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัวยิ่งต้องไม่ประมาท
          สัปดาห์ก่อนเขียนเรื่องห่อหมกใบยอ ให้กินช่วงอากาศเปลี่ยน ก็มีหลายคนโทร.มาถามเรื่องภูมิแพ้ จึงต้องจัดไปตามคำขอ
          ภูมิแพ้มันเป็นโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวกำลังแบกของหนักตลอดเวลา
          เป็นภูมิแพ้นั้นไม่ตาย แต่ชีวิตไร้ความสุข
          ภูมิแพ้มีหลายอย่าง แพ้อาหาร แพ้กลิ่น...แต่วันนี้จะพูดเรื่องแพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง เพราะเป็นกันมาก และมีทีท่าว่าผู้ป่วยจะเพิ่มจำนวนขึ้น
          การแพ้ฝุ่นละอองหรืออากาศ...ส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว มักเป็นผู้ป่วยในสังคมเมือง ที่อากาศมีแต่การปนเปื้อนให้หายใจ...ตอนนี้มีความเย็นเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ใครเป็นภูมิแพ้ยิ่งควรระวัง
          ยังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่า คนไทยป่วยเป็นโรคภูมิแพ้มากน้อยเพียงใด รู้แต่ว่าน่าจะหลายล้านคน เหตุที่ภาครัฐไม่สามารถรู้ถึงจำนวนผู้ป่วยภูมิแพ้ได้ เพราะผู้ป่วยภูมิแพ้ส่วนใหญ่ไม่ไปพบแพทย์ ผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ฝุ่นละอองหรือแพ้อากาศ มองอาการป่วยดังกล่าวเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อรู้สึกมีอาการขึ้นมาก็จะหายากินเอง กินยาจนเป็นความเคยชิน โดยหาทราบไม่ว่านี่คงไม่ใช่วิธีการถูกต้อง
          ปัจจุบันโรคภูมิแพ้มีอัตราขยายตัวค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะในเด็กอ่อนจำนวนไม่น้อยเริ่มเป็นภูมิแพ้ ในเด็กวัยรุ่น ภูมิแพ้เหมือนโรคแฟชั่นที่เป็นกันแทบทุกครัวเรือน ในสถานศึกษามีเด็กนักเรียนเป็นภูมิแพ้เพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา
          อาการของผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศหรือฝุ่นละออง...ผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรัง ไม่ได้ไออย่างน่ารังเกียจ แต่มันเป็นการไออย่างน่ารำคาญ แล้วยังมีอาการจามต่อเนื่องอีก โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนนอนหรือตื่นนอน บางรายจามนับสิบครั้งกว่าจะล้มตัวลงนอนได้
          ผู้ป่วยด้วยอาการภูมิแพ้อากาศและฝุ่นละออง ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเชื่องช้า อืดอาด และชอบนอน นอนเท่าไรเหมือนไม่อิ่ม พ่อแม่เรียกไม่อยากลุกปลุกไม่อยากตื่น...โดยความเป็นจริงผู้ป่วยภูมิแพ้ มักนอนไม่อิ่ม คือหลับไม่สนิทนั่นเอง ทั้งนี้เพราะระบบหายใจมีปัญหา
          ก่อนหน้านี้เราพบผู้ป่วยภูมิแพ้อายุเกิน 20 ปีส่วนใหญ่ ปัจจุบันมีผู้ป่วยภูมิแพ้อายุต่ำกว่า 15 ปีมากขึ้น ผู้ป่วยที่อายุน้อยมักเป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยสนใจดูแลตัวเอง เพราะยังมีภูมิต้านทานดี จึงไม่เคร่งครัดในวินัยตัวเอง โดยอาการยังไม่แสดงออกนัก เป็นเพียงคัดจมูก มีน้ำมูกบ้าง ไม่ถึงกับมีไข้ หากบุตรหลานท่านมีปัญหาในโรคภูมิแพ้อย่างนี้ ท่านอย่าปล่อยให้ผ่านไปวันๆ เพราะโรคจะกำเริบ ในที่สุดต้องมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ที่จะแก้ยากในอนาคต
          ยิ่งผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เป็นโรคติดน้ำเย็น หมอใบไม้ก็ไม่รับให้บริการ...ปัญหานี้กับเด็กพูดยากมาก  น้ำเย็นเปรียบเหมือนของแสลง หากเลิกดื่มไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไปรักษากับหมอเทวดาจากสวรรค์ชั้นไหนก็ไม่สำเร็จ น้ำเย็นกับโรคภูมิแพ้ ถือเป็นกติกาข้อแรกที่ต้องปฏิบัติ และช่างเป็นอะไรที่ยากเมื่อคนติดมันแล้ว
          ของเย็นทุกชนิดเป็นพิษกับโรคภูมิแพ้ ทั้งขนมอย่างน้ำแข็งใส่น้ำหวาน ทับทิมกรอบ ไอศกรีม...ฯลฯ บางรายรู้ทั้งรู้ว่ารับประทานไม่ได้ แต่อดใจไม่ไหว ภูมิแพ้จึงกำเริบตลอด ยิ่งโรคนี้เป็นกับเด็กที่ยังอยู่ในวัยเรียน รักษาไปเหมือนเสียเวลาเปล่า เพราะเด็กยังไม่เข้าใจด้านวินัยการใช้ชีวิต...อาการภูมิแพ้นั้น
          ...ผู้ป่วยต้องไม่ดื่มน้ำเย็น และรับประทานของเย็นทุกชนิด ...ห้ามนอนดึก ...ต้องหลีกเลี่ยงเครื่องนอนที่มีนุ่น ...ควรออกกำลังกายประจำ ...ระวังด้านอารมณ์...ฯลฯ  ที่กล่าวมาทั้งหมดคือ เงื่อนไขที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติ...แต่แทบไม่มีใครทำได้เลย ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง ไม่ดื่มน้ำเย็นก็ว่าไม่สดชื่น ไม่ให้อดนอนก็บอกติดละครทีวี เด็กจะยุ่งกับอินเตอร์เน็ต แล้วไปโทษว่าเป็นปัญหาของสังคม ที่โลกปัจจุบันมันเป็นอย่างนั้น ใครอยู่บนโลกใบนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ หมอใบไม้บอกตามตรงว่า เซ็งจริงๆ กับเหตุผลไร้สาระ...สุดท้ายไปแก้ปัญหาปลายเหตุ ด้วยการกินยาแก้แพ้ กินจนเกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น มึนงงตลอด...ปากเปื่อย...นอนไม่อิ่ม...อารมณ์เสียง่าย
          ยาแก้แพ้มันหยุดอาการภูมิแพ้ไม่ได้หรอก หากผู้ป่วยยังละเมิดวินัยตนเอง ยาภูมิแพ้จะไม่สามารถช่วยท่านได้...มันเป็นอีกโรคที่แพทย์ไม่ทราบสาเหตุ โรคไม่ทราบสาเหตุต้องใช้วิธีทางธรรมชาติบำบัดเท่านั้น การรักษาแบบแผนปัจจุบันคือ การรักษาไปตามอาการ มันไปไม่ถึงต้นสายปลายเหตุของโรค ซึ่งหากจะพูดคงยาว
          เหยียด เอาไว้ใครอยากรู้ว่าภูมิอากาศมาจากอะไร ให้โทร.มาคุยตามหมายเลขท้ายเรื่อง มาพูดเรื่องที่ว่าธรรมชาติบำบัดสู้อาการภูมิแพ้ได้อย่างไร
          หมอใบไม้ยังคงใช้วิธีการทางธรรมชาติบำบัดเข้าไปจัดการกับโรคภูมิแพ้ ไม่ต่างจากการจัดการกับโรคอื่นๆ ขอยืนยันว่าวิถีธรรมชาติบำบัด เป็นโอสถขนานวิเศษจริงๆ ที่สู้ได้สารพัดโรค...โดยผู้ป่วยไม่ต้องกินยา ไม่ต้องไปต่อคิวที่โรงพยาบาลคอยหมอจนแทบเป็นลม แต่ผู้ป่วยต้องมีวินัย มีความอดทนไม่เช่นนั้นโรคอะไรก็ไม่หาย ซึ่งอาการภูมิแพ้ก็เช่นกัน
          เงื่อนไขแรก...ผู้ป่วยภูมิแพ้นอนดึกไม่ได้ ยิ่งนอนดึกและตื่นเช้าด้วย เวลาพักผ่อนไม่เพียงพออาการภูมิแพ้ไม่มีหนทางรักษาได้เลย บางรายเป็นพวกศรีธนญชัย บอกว่านอนดึกแล้วตื่นสาย นอนให้ได้ 8 ชั่วโมง ก็น่าช่วยได้ หมอใบไม้ลองแล้วกับผู้ป่วย ไม่เป็นผลแม้แต่รายเดียว...การที่ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้านอนแต่หัวค่ำ นอนจนร่างกายได้รับการพักผ่อนเพียงพอ ผู้ป่วยทุกรายมีการตอบสนองดีขึ้น เหตุผลง่ายๆ การนอนหัวค่ำทำให้ร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เราเรียนมาทั้งนั้น แต่ไม่สนใจกัน
          คนเราต้องนอนและกินเป็นเวลา คนกินข้าวไม่เป็นเวลา แม้จะได้กินทุกวันไม่เคยอด แต่สุดท้ายต้องเป็นโรคกระเพาะ คนอดนอน นอนไม่เป็นเวลาเช่นกัน จะไม่มีวันสู้ภูมิแพ้ได้
          เงื่อนไขที่สอง...ต้องใช้อาหารเป็นยา อาหารประเภทนี้ต้องเป็นพืชสมุนไพร หรือกึ่งสมุนไพร จำพวกเผ็ดร้อน จะช่วยแก้ปัญหาโรคภูมิแพ้ได้...ในที่นี้ขอแนะนำให้กิน "ขิง" ขิงเป็นสมุนไพรพื้นบ้านของชาวตะวันออกส่วนใหญ่ ขิงเป็นมือปราบโรคภูมิแพ้ได้ชะงัด เพราะในขิงมีความเผ็ดร้อนที่พอดี หรือจะบอกว่าออกแนวร้อนแต่ไม่เผ็ดดูจะถูกต้องกว่า
          ความร้อนของขิงเมื่อรับประทาน ขิงจะไปช่วยรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้อบอุ่นตลอดเวลา ขิงจึงไปช่วยลดอาการไอ จาม และลดน้ำมูกได้...คุณสมบัติของขิงอีกอย่าง เมื่อขิงให้ความร้อน ขิงจึงเป็นตัวเปิดทางให้เลือดลมเดินได้สะดวก หมายถึงขิงไปเปิดเส้นเลือด ให้สารอาหารไปเลี้ยงทั่วร่างกาย เหมือนรถยนต์นั่นแหละ หากท่อส่งน้ำมันมีปัญหา รถย่อมวิ่งได้ไม่ดี เครื่องยนต์สะดุดตลอดเวลา ก็ต้องพามันไปเข้าอู่ เมื่อร่างกายได้รับสารอาหาร ระบบการทำงานจึงไหลลื่นด้วยเหตุผลง่ายๆ ทางวิทยาศาสตร์
          วิธีการรับประทานขิง...เมนูอาหารที่มีขิงประกอบค่อนข้างหลากหลาย ให้ทำกินบ่อยๆ อย่างเช่น หมูหรือไก่ผัดขิง มีเห็ดหูหนูด้วย ให้ใส่ขิงมากๆ หรือผัดผักอะไรให้ใส่ขิงลงไปด้วย ปลานึ่งก็ต้องมีขิง...สุดท้าย การทำน้ำขิงให้เป็นยา ใช้ขิงสด ปั่นหรือตำ คั้นน้ำเข้มข้น แล้วผสมน้ำผึ้ง มะนาว เกลือ ปรุงจนอร่อยถูกใจ ดื่มครั้งละ 1 อึก วันละ 4 มื้อ สัปดาห์แรกจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ในหนึ่งเดือนลืมยาภูมิแพ้ได้เลย อาการไอจามแทบไม่พบแล้ว นอกจากไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีปัญหา...ข้อควรระวัง ห้ามดื่มน้ำขิงใส่น้ำตาลเด็ดขาด 
          อีกตำรับยาในสูตรเครื่องดื่มที่มีขิงข้องเกี่ยว คือการดื่มชาที่มีขิงด้วย ดังนี้ น้ำชาร้อน 1 ถ้วย ฝานขิงเป็นแผ่นบางๆ ลงไปเล็กน้อยในน้ำชา น้ำมะนาว 1 ซีกบีบลงไป เติมความหวานด้วยน้ำตาลทรายแดง สูตรนี้ช่วยระบบทางเดินหายใจให้คล่องขึ้น และใครเป็นภูมิแพ้เบื้องต้นอาการไม่รุนแรงเห็นผลได้ไม่กี่วัน จมูกจะโล่ง หยุดไอจาม 
          สมุนไพรไทยของดีคู่ครัว ใช้มันให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า รับรองว่ายาฝรั่งสู้ไม่ได้ สำคัญอีกประการหนึ่ง ต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องวันเว้นวัน ด้วยการเดินเร็วและช้าสลับกันไป ไม่จำเป็นต้องให้เหนื่อยจนเหงื่อไหลไคลย้อย เดินชมวิวทิวทัศน์นี่แหละ หยุดภูมิแพ้แก้ปัญหาระบบทางเดินหายใจได้ชะงัด โยนยาลงถังขยะไปเลย 
          เคยเขียนเรื่องของโรคภูมิแพ้ไปแล้ว พอดีช่วงนี้สภาวะอากาศเปลี่ยน มีแฟนคลับโทร.มาปรึกษากันหลายคน หลายคนก็ได้รับการบอกต่อให้โทร.หาหมอใบไม้ และที่โทร.มามักมีเงื่อนไขว่าจะกินห่อหมกทุกวันคงลำบาก อยากได้สูตรอาหารเป็นยาอื่นๆ ก็จัดให้แล้วเร็วดังใจต้องการ สนองทุกเรื่องที่คุณขอมา...ถ้าทำได้ 
          ใครยังสงสัยไม่เข้าใจอะไร บางรายอาจไม่คุ้นกับสูตรอาหารเป็นยาของหมอใบไม้ อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม ขอให้โทร.มาคุยเองตามอัธยาศัย หมายเลขเดิม...08-5151-8844

pageview  1205891    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved