HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 04/10/2556 ]
ผู้ประสบภัยน้ำท่วมเครียดจัดสธ.ดูแลใกล้ชิด

 น.พ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การดูแลผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพกายและด้านจิตใจ ตั้งแต่วันที่ 17-30 ก.ย.56 ให้บริการแล้ว 896 ครั้ง พบผู้เจ็บป่วย 36,634 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคทั่วไป มากที่สุดคือน้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย และปวดศีรษะ ไม่มีรายใดอาการรุนแรง และไม่พบการระบาดของโรคติดต่อ และออกเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัยตามหมู่บ้านชุมชนต่างๆ 46,117 ราย
          น.พ.ประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังน้ำท่วม ได้เน้นให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา ให้การดูแลด้านจิตใจผู้ประสบภัยเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตให้มากที่สุด โดยเน้นหนักใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยจิตเวชเดิมเพื่อป้องกันปัญหาขาดยา 2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น มะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ 3.ผู้สูงอายุและผู้พิการ และ 4.ผู้ที่สูญเสียอย่างมาก ทั้งด้านทรัพย์สิน มีผู้ใกล้ชิดเสียชีวิตจากน้ำท่วม เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้จะเกิดปัญหาง่าย เพราะมีปัญหาทางจิตใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อประสบปัญหาจะกระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ง่ายและมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งผลการประเมินทางจิตจำนวน 3,032 ราย ใน 32 จังหวัด พบผู้มีความเครียดทั้งหมด 160 ราย ในจำนวนนี้เครียดในระดับสูง 24 ราย ให้ทีมเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาซึมเศร้าหรือการทำร้ายตัวเอง และจะส่งเจ้าหน้าที่ติดตามดูแลสุขภาพจิตครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 26 ราย และผู้สูญหายอีก 1 รายด้วย
          ด้าน น.พ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการลดผลกระทบด้านจิตใจ ขอให้ผู้ประสบภัยยอมรับว่าภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ขอให้สำรวจและวางแผนแก้ไขความเสียหายให้เป็น ขั้นตอน โดยแก้ไขเรื่องง่ายและมีความจำเป็นไปก่อน ในระหว่างนี้อย่าเก็บตัวอยู่ในบ้านคนเดียว ขอให้หาเพื่อนคุยปรับทุกข์ เช่น คนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน เพื่อจะได้ทราบว่าปัญหาไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว การพูดคุยจะช่วยเพิ่มกำลังใจและคลายความวิตกกังวลลงได้ และขอให้ออกกำลังกายในช่วงน้ำท่วม เช่น กายบริหาร ยืดเหยียดแขนขา จะช่วยสลัดความเบื่อหน่ายและความเมื่อยล้าลงได้ หากิจกรรมทำเพื่อลดความฟุ้งซ่าน และขอให้ญาติยึดหลัก 3 ประการในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช หรือผู้ป่วยเรื้อรังทางกายอื่นๆ ได้แก่ 1.ช่วยกันให้กำลังใจ 2.อย่าให้ขาดยา และ 3.อย่าทอดทิ้งกัน เพื่อป้องกันอาการกำเริบ ทั้งนี้หากผู้ประสบภัยรู้สึกเครียด วิตกกังวลมาก นอนไม่หลับ ขอให้พบ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือโทร.ปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง


pageview  1205849    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved