HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 30/09/2556 ]
ทุกข์ของคน'ปวดหลังเรื้อรัง' มีทางออกเทคนิคผ่าตัดล้ำยุค!

คนทำงานออฟฟิศในปัจจุบันมักเจออาการปวดหลังรบกวนสุขภาพร่างกายกันถ้วนหน้า ปวดหลังธรรมดาพอทำเนา แต่ปวดหลังเรื้อรังนี่สิ ถ้าแก้ไม่หายทุกข์ไม่มีวันจบ ลองไปศึกษาวิวัฒนาการแพทย์ที่ล้ำยุค ซึ่งศึกษาค้นคว้าวิธีรักษาโรคใหม่ออกมาไม่หยุด
          หลัง รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.เซนต์แอนนา และ บ.ริชาร์ด วูล์ฟ ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ระดับสูงจากเยอรมนี ได้ช่วยเหลือคนไข้ที่ทุกข์ทรมานจากปวดหลังเรื้อรังปีละกว่าพันราย ทั้งร่วมผลิตบุคลากรด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ผ่านการจัดอบรมโดยการใช้กล้องเอ็นโดสโคป จากเยอรมันเป็นประจำทุกปี โอกาสนี้ รพ.บำรุงราษฎร์ และ บ.ริชาร์ด วูล์ฟ จึงลงนามข้อตกลงความร่วมมือกันอีกครั้ง เมื่อ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา
          "น.พ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรม" ผอ.สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ เผยว่า "การรักษาอาการปวดหลังในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 วิธีหลัก คือ การให้ยาและทำกายภาพบำบัด การฉีดยาเข้าโพรงประสาท และการผ่าตัด แพทย์จะเลือกใช้วิธีที่ทำให้คนไข้เจ็บปวดน้อยที่สุดเป็นลำดับแรก
          "หากผู้ป่วยปวดหลังรุนแรง อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือโพรงประสาทตีบแคบ หรือปวดหลังร้าวลงขาจากการกดทับหรืออักเสบของเส้นประสาท เนื่องจากกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเคลื่อน คนไข้กลุ่มนี้จะมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดสูง"
          การผ่าตัดแบ่งเป็น 2 วิธี คือการผ่าตัดแบบไม่ดามกระดูก และการผ่าตัดแบบที่ต้องดามเชื่อมข้อกระดูกในกรณีพบข้อต่อกระดูกเคลื่อนหรือทรุดตัว ในวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐานนั้น จะทำโดยการผ่าตัดเปิดแผลใหญ่โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งศัลยแพทย์ต้องตัดเลาะเนื้อเยื่อส่วนที่ดีออกเพื่อเปิดทางเข้าไป เพื่อให้ได้ทัศนวิสัยที่ดีในการผ่าตัด
          "การผ่าตัดแบบไม่ต้องดามกระดูก ทุกวันนี้เรามีเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป โดยแพทย์จะสอดกล้องและอุปกรณ์การผ่าตัดผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 7.9 มิลลิเมตร เลนส์ที่ปลายกล้องสามารถทำให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่มีปัญหาได้โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก คนไข้จึงใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง และลดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อ
          "แต่ในการใช้กล้องเอ็นโดสโคปที่ผ่านมา มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น คนไข้ที่มีปัญหาจากโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal stenosis) จากการเกิดหินปูนเกาะจนทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาท กรณีนี้เราจำเป็นต้องกรอกระดูก ทำให้ใช้เวลาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในคนไข้ซึ่งต้องกรอกระดูกที่กดทับเส้นประสาททั้งสองฝั่งของกระดูกสันหลัง ก็ต้องกรอกระดูกทั้งสองข้าง เวลาที่ใช้ก็เพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่ง
          "ดังนั้น เราจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ใหญ่ขึ้นเพื่อลดขั้นตอนการทำงาน จึงมีการคิดค้นพัฒนาร่วมกันระหว่างสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ดร.เซบัสเตียน รุทเทิน จนได้กล้องเอ็นโดสโคปด้วยขนาด 10.5 มิลลิเมตร ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ให้สามารถรักษาอาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลังได้หลากหลายและดียิ่งขึ้น
          สำหรับผู้ป่วยที่ปวดหลังรุนแรงและร้าวลงขาจากกระดูกที่เคลื่อนและเกิดการกดทับเส้นประสาท วิธีการผ่าตัดต้องเปิดจากทางด้านหลัง ได้แก่วิธี TLIF (Transforaminal Lumbar Interbody Fusion) และ PLF (Posterior Lumbar Interbody Fusion) ในปัจจุบัน รพ.บำรุงราษฎร์ ได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดด้วยวิธี TLIF จนสามารถผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ผ่านอุโมงค์ขนาดเล็กเพื่อดามเหล็กผ่านผิวหนังโดยไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ได้สำเร็จ
          ทั้งยังสามารถขยายช่องห่างระหว่างกระดูกและเส้นประสาทได้กว้างพอ ผู้ป่วยจึงลดอาการเจ็บปวดหลังการผ่าตัด และฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งทางสถาบันฯ ทำการรักษาผู้ป่วยโดยวิธีนี้สำเร็จไปแล้วกว่า 100 ราย
          "การทำ TLIF แพทย์จะผ่าตัดผ่านอุโมงค์ขนาดเล็กซึ่งเข้าจากทางด้านหลังของคนไข้ นำเอากระดูกเทียมเข้าไปวางเชื่อมเป็นสะพานให้กระดูกสองอันติดเป็นชิ้นเดียวกัน และใส่สกรูยึดเพื่อความแข็งแรงผ่านแผลขนาดเล็กอีก 4 จุดทางผิวหนัง แพทย์มองเห็นเส้นประสาททั้งหมดผ่านกล้องจุลทรรศน์ ทำให้สามารถคลายส่วนที่ถูกกดทับได้ วิธีนี้จึงเป็นทั้งการเชื่อมกระดูกและคลายเส้นประสาทที่ถูกกดทับไปพร้อมกัน ใช้เวลาพักฟื้นไม่เกิน 3-4 วัน
          "นอกจากนี้ เราได้นำเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ (O-Arm) มาใช้ร่วมกับเครื่องผ่าตัดนำวิถี (Navigation System) ที่สร้างภาพ 3 มิติบนมอนิเตอร์ มาใช้แทนเครื่องเอ็กซเรย์แบบเก่า เพื่อแสดงตำแหน่งต่างๆ บริเวณที่ผ่าตัดอย่างละเอียด การผ่าตัดจึงแม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยลดปริมาณรังสีที่แพทย์และคนไข้จะได้รับอีกด้วย"...
          คราวนี้คนปวดหลังเรื้อรังมีทางออกแน่นอน.
          การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคปสำหรับรักษาอาการปวดหลังร้าวลงขาที่ไม่ต้องดามกระดูก
 


pageview  1205273    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved