HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 29/07/2556 ]
'โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก' (Hemifacial spasm)

  นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
          โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก (Hemifacial spasm) หมายถึง อาการที่กล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้าครึ่งซีกมีการกระตุก พบได้ในวัยผู้ใหญ่ อายุเฉลี่ย 45-50 ปี พบใน ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการเริ่มต้นมักกระตุกที่หนังตามาก่อน หลังจากนั้นก็กระจายไปครึ่งใบหน้า จนบางครั้งผู้ป่วยตาปิดไปรบกวนการมองเห็น และอาจมีมุมปาก และกล้ามเนื้อใต้ผิวหนังที่คอ (platysma) กระตุกร่วมด้วย อาการจะเป็นมากขึ้นถ้าเครียด ทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก อาการอาจมากขึ้นอย่างช้าๆ มักจะไม่หายขาดและก่อความรำคาญให้แก่ผู้ป่วย แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตแต่อย่างใด
          สาเหตุ
          เชื่อว่าเกิดจากเส้นเลือดที่เลี้ยงก้านสมองเกิดคดเคี้ยวและไปกดเบียด เส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ทำให้เกิดการนำกระแสประสาทที่ผิดปกติขึ้นมา
          การวินิจฉัย
          ทำได้โดยการซักถามอาการและการตรวจร่างกาย ส่วนการตรวจเพิ่มเติม เช่น CT scan หรือ MRI scan ของสมอง จะทำในกรณีที่แพทย์ตรวจได้ความผิดปกติเพิ่มเติมว่าใบหน้ากระตุกที่พบทั่วไป หรือสงสัยว่าอาจมีสาเหตุจากโรคเช่นเนื้องอกเล็กๆ กดเบียดเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ซึ่งพบได้น้อย
          การรักษา
          ในยุคก่อนการฉีดโบทูลินัมทอกซิน มีการรักษาทางยาและการผ่าตัด
          ในอดีตยาที่ใช้มีหลายชนิด เช่น carbamazepine gabapentin clonazepam baclofen ได้ผลบ้างแต่ก็ไม่ดีนัก และมีผลข้างเคียง เช่น ง่วง และแพ้ยา
          การผ่าตัดในสมัยก่อนเรียก microvascular decompression โดยต้องเปิดเข้าไปในกะโหลกศีรษะและทำให้เส้นเลือดที่เบียดเส้นประสาทอยู่แยกห่างจากกัน แต่ก็มักกลับมาเป็นซ้ำได้อีก และยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ ปัจจุบันจึงไม่เป็นที่นิยม
          ในปัจจุบันการฉีดโบทูลินัมทอกซินเพื่อรักษาอาการใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เป็นที่ยอมรับว่าได้ผลดี แต่ราคาสูงมากและต้องทำการฉีดซ้ำทุก 3-6 เดือน
          หลักการของการใช้โบทูลินัมทอกซินก็คือ ยาจะไปยับยั้งการนำกระแสประสาทที่สั่งการไปที่กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้น้อยลงทำให้การกระตุกลดลง จะเริ่มเห็นผลการรักษาสองสัปดาห์หลังจากฉีด แต่ยาจะออกฤทธิ์อยู่นาน 3-6 เดือนเท่านั้นผลข้างเคียงระยะสั้น เช่น หนังตาตก ปิดตาไม่สนิท ตาแห้ง แต่ก็จะหายไปเมื่อยาหมดฤทธิ์ ระยะยาวนั้นผู้ป่วยอาจมีภูมิต้านทานต่อโบทูลินัมทอกซิน ทำให้การตอบสนองต่อยาลดลง กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดฝ่อหรือเกิดพังผืด
          นอกจากนั้นถ้าใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเกิดจากสาเหตุที่ชัดเจน เช่น เนื้องอกก็รักษาตามสาเหตุ แต่ก็พบได้น้อย
          สรุป โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกเป็นโรคที่เรื้อรัง มักไม่หายขาด และก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ป่วย แต่ไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง การรักษาในปัจจุบันทำโดยการฉีดโบทูลินัมทอกซินซึ่งราคาสูงมาก ไม่หายขาด ต้องฉีดซ้ำทุก 3-6 เดือน และนานไปการตอบสนองอาจลดลง ดังนั้นแพทย์จึงจะเลือกกรณีที่เหมาะสม เช่น อาการกระตุกรบกวนผู้ป่วยมากเท่านั้นในการฉีดยา
          ข้อมูลจาก ศูนย์อายุรกรรมระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2/http://www.phyathai.com


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved