HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 17/07/2556 ]
'การดูแลรักษาตนเอง ระหว่างรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด'

อง ฉบับวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
          การเตรียมตัวก่อนให้ยาเคมีบำบัด 1.แพทย์จะทำการประเมินภาวะสุขภาพ และประเมินภาวะเสี่ยงต่ออันตรายจากการได้รับยาเคมีบำบัด โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับการให้ยาชนิดนั้นๆ เช่น การเจาะเลือดเพื่อดูปริมาณเม็ดเลือด, การทำงานของตับและไต การเอกซเรย์ปอด เป็นต้น
          2.รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ (คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน) เพื่อช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ให้เป็นปกติ และช่วยเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานของร่างกาย รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาความสะอาดของร่างกาย
          3.ปรึกษาและรับคำแนะนำจากแพทย์และพยาบาล เกี่ยวกับผลดี, ผลข้างเคียงของยา และสิ่งที่ควรปฏิบัติขณะได้รับยาเคมีบำบัด
          การดูแลตนเองขณะได้รับเคมีบำบัด
          เคมีบำบัดอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงขึ้นหลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะหายไปเมื่อสิ้นสุดการรักษา ต่อไปนี้เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆ ซึ่งเกิดอาการข้างเคียงอย่างใดนั้น ขึ้นกับชนิดของยาที่ได้รับ และขึ้นกับปฏิกิริยาเฉพาะตัวผู้ป่วยที่มีต่อยานั้นๆ อาการข้างเคียง ได้แก่
          1.คลื่นไส้อาเจียน อาการนี้พบได้บ่อย จะเกิดอาการหลังได้รับยา 1-2 ชั่วโมง และมักหายไปใน 24 ชั่วโมง ซึ่งแพทย์อาจให้ยาแก้อาเจียนก่อนฉีดยา และหลังฉีดยาอาจได้รับแก้อาเจียนเป็นยารับประทาน ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ หลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารรสจัด
          2.เบื่ออาหาร อาจเกิดขึ้นชั่วคราวและหายไปใน 1-2 สัปดาห์ ระหว่างนั้นควรทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง ดื่มน้ำมากๆ (อาจรับประทานน้ำซุป, น้ำผลไม้, วุ้น, ไอศกรีม) เมื่อรู้สึกดีขึ้นเพื่อป้องกันการขาดน้ำ
          3.แผลในปาก อาการนี้อาจจะเกิดหลังได้รับยา 5-7 วัน อาจมีผลทำให้รับประทานได้น้อยลง ป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารอ่อนๆ อมน้ำแข็งบด ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนและบ้วนปากหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ ใช้น้ำเกลือหรือน้ำยาบ้วนปากตามแพทย์สั่งทุก 2 ชั่วโมง ดื่มน้ำอย่างน้อย 3 ลิตรต่อวัน
          4.ท้องเสีย บรรเทาอาการท้องเสียโดยการรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย อาหารสุก สะอาด
          5.ท้องผูก บรรเทาอาการโดยการดื่มน้ำมากๆ วันละ 2-3 ลิตร รับประทานอาหารที่มีเส้นใย เช่น ผัก ผลไม้ ออกกำลังกายตามความสามารถ เพื่อช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น
          6.ผมร่วง บรรเทาอาการโดยการสระผมด้วยแชมพูชนิดอ่อน หวีผมเบาๆ หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์ การอบ การดัด นอกจากนี้การตัดผมสั้นจะทำให้ไม่รู้สึกว่าผมร่วงมาก
          7.อาการทางผิวหนัง โดยผิวหนังอาจแห้งเป็นผื่นคัน ดูแลโดยการรักษาความสะอาดของผิวหนัง ใช้ครีมหรือโลชั่นทาผิวหนังให้ชุ่มชื้นทุกครั้งหลังอาบน้ำ ไม่เกาหรือถูผิวหนังแรงๆ หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด
          8.เม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ สามารถป้องกันการติดเชื้อได้โดยการหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรคติดเชื้อ ทำความสะอาดร่างกายและช่องปากอย่างสม่ำเสมอ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีการแสดงของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอ ท้องเสีย
          9.เกล็ดเลือดลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกง่าย สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ถ่ายอุจจาระสีดำ มีเลือดออกตามไรฟัน มีจุดจ้ำเลือดตามผิวหนัง และถ้าผลการตรวจนับเกล็ดเลือดต่ำกว่า 20,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร แนะนำให้นอนพักบนเตียง ทำกิจกรรมให้น้อยที่สุด
          10.การควบคุมการแปรปรวนของอารมณ์ การพยายามปรับตัวช่วยให้สามารถควบคุมอารมณ์ตลอดจนตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ ได้ดีขึ้น ผลของการมีอารมณ์ที่แจ่มใสและทัศนคติที่เปิดกว้างจะช่วยให้กระบวนการรักษาเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น และจะช่วยให้ปรับตัวต่ออาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น
          ข้อมูลจาก แผนกอายุรกรรม ห้องเคมีบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 2/http://www.phyathai.com


pageview  1205475    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved