HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 25/06/2556 ]
เป็นตะคริว...ให้กินงาดำ

  ตะคริว...เป็นอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ สามารถเกิดได้กับร่างกายทั่วไป ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณน่อง...เกิดที่ท้องก็ได้ โดยเฉพาะระหว่างการเล่นกีฬาบางอย่าง บางรายเป็นตะคริวที่นิ้ว นิ้วก็แข็งต้องค่อยๆ ดึงมันออกมา
          ใครเคยเป็นตะคริว ย่อมรู้ดีว่ามันเจ็บปวดยังไง...ยิ่งเป็นตะคริวที่ท้อง จะปวดจนหน้าเขียว กระดิกกระเดี้ยไม่ได้
          ผมมีประสบการณ์การเป็นตะคริวด้วยตัวเองบ่อยก่อนหน้านี้ ปัจจุบันก็ยังมีบ้างแต่ไม่รุนแรงเหมือนแต่ก่อน...เคยเป็นตะคริวตอนว่ายน้ำด้วย มันน่ากลัวมาก เพราะไปเกิดเรื่องเมื่ออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนั้นยังเด็กไร้เดียงสา จึงซุกซน ชอบหนีแม่ไปว่ายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตามเพื่อนไปหรือไม่ก็ชวนเพื่อนเอง สนุกมากกับการได้ทำกิจกรรมเสี่ยงอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่การว่ายน้ำตามปกติ แต่จะมีอะไรที่หวาดเสียวให้หัวใจได้กระเพื่อมอย่างตื่นเต้นด้วย
          ที่ชอบกันมาก คือพากันลอยคอไปถึงกลางแม่น้ำ มันไกลมากแล้วจะแหวกว่ายฝ่าคลื่นไปเกาะเรือโยง ทำอย่างนี้มานาน...จนวันหนึ่งเกิดเรื่อง...เป็นตะคริวที่น่องข้างไหนไม่ทราบจำไม่ได้แล้ว
          นั่นเป็นประสบการณ์แรกของชีวิตที่รับรู้รสชาติของการเป็นตะคริว เดชะบุญว่ามีเพื่อนร่วมชะตากรรมด้วยหลายคน ใครๆ ก็ต้องมาช่วยผม เพราะเหตุเกิดกลางแม่น้ำจึงเป็นอะไรที่น่ากลัว ตัวผมหมดความสามารถจะช่วยตัวเองได้แล้ว มันปวดมาก ขาทั้งท่อนเกร็งไปหมด ปวดขนาดเข้าหัวใจ ขึ้นถึงสมอง ตาลาย
          ตอนนั้นจึงเข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่จึงห้ามไม่ให้ไปว่ายน้ำ และทุกครั้งที่แม่รู้ ก็ต้องโดนไม้เรียวตามระเบียบ แต่ไม่เคยเข็ดหลาบ...ตอนนี้เป็นพ่อคนแล้ว ก็เข้าใจเรื่องซนของลูก จึงต้องพาลูกพาเด็กทุกคนไปหัดว่ายน้ำให้เป็น แต่มันปลอดภัยกว่าเพราะมีสระน้ำได้มาตรฐานให้ฝึกฝน แต่อย่างรุ่นผมมันต้องไปวัดดวงเอาตามธรรมชาติ
          การเป็นตะคริวอย่างผม มีสาเหตุจากการเล่นกีฬา ใครที่ชอบวิ่ง หรือกีฬาอะไรที่ต้องวิ่งหนักๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นนี้
          แต่ตะคริวไม่ได้มีสาเหตุเดียว...ความเจ็บป่วย เมื่อต้องเข้าโรงพยาบาล ระหว่างนั้นก็เป็นตะคริวได้ เช่นกัน...อย่างกรณีน้องสาวผม คลอดลูกมาใหม่ๆ ไม่นาน เริ่มมีอาการเป็นตะคริวบ่อย ต้องสะดุ้งตื่นกลางดึกทุกวัน ตอนแรกไปหาหมอแผนโบราณ ได้รับคำตอบว่า น้ำคาวปลาเข้าเส้น ฟังดูมันแปลกๆ กับไอ้โรคนี้ ก็ลองใช้ยาแผนโบราณสักระยะ อาการก็ไม่ดีขึ้น ยังคงผวาตื่นกลางดึกเช่นเคย ในที่สุดต้องเปลี่ยนวิธีการรักษา ไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน...พบคำตอบว่า...กล้ามเนื้อเกร็งเป็นตะคริวเพราะ...ขาดแคลเซียม
          ผู้ที่คลอดบุตรหลายราย มักมีอาการนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรมากกว่า 1 คนขึ้นไปเป็นคำตอบที่ฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์แน่นอน...ผมเองทำงานและให้ความสำคัญกับธรรมชาติบำบัด มากกว่าใช้ยา แต่บางเรื่องก็ยังต้องขอให้ผู้ป่วยใช้วิทยาการสมัยใหม่ร่วมด้วย ผมเรียนแพทย์แผนไทย ผมจึงเข้าใจดีไม่ใช่หมอยาทุกคนจะเก่งไปหมดทุกเรื่องทุกโรค
          ทั้งเล่นกีฬา คลอดบุตร รวมถึงความเจ็บป่วยใช้ยาเรื้องรัง ท่านมีความเสี่ยงเป็นตะคริวได้ทั้งนั้น ผมพบผู้ป่วยเบาหวาน ความดันฯ และโรคเรื้อรังอื่น มีอาการชามือชาเท้า รวมถึงเป็นตะคริว โรคเรื้อรังกินยาจนกล้ามเนื้อเกร็งเป็นตะคริว อาการนี้รักษายากมาก มันจะหายเมื่อผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ และเริ่มลดยาลง...ก็จะไม่ขอพูดถึงละไว้ก่อน
          คงจะพูดอาการของตะคริว ที่เกิดจากการขาดแคลเซียมท่านทั้งหลายมักเข้าใจว่า แคลเซี่ยมทำหน้าที่สร้างมวลกระดูก หากขาดแคลเซียม ยามแก่เฒ่าต้องเป็นโรคกระดูกพรุน นั่นจริงแท้แน่นอน...แต่แคลเซียมไม่ได้ทำหน้าที่เพียงประการเดียวอย่างที่ท่านเข้าใจ
          หากร่างกายมวลกระดูกดี ไขกระดูกย่อมสมบูรณ์ ระบบเลือดจะดีตาม
          และแคลเซียม ยังช่วยลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ป้องกันการเกิดตะคริว
          กรณีผู้ป่วยคลอดบุตร แล้วเป็นตะคริว เพราะระหว่างตั้งครรภ์ แคลเซียมจะถูกดึงไปใช้สร้างกระดูกให้ลูกนั่นเอง ซึ่งต้องใช้ในปริมาณที่มาก ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของทารกที่นอนขดในมดลูก แม้บางรายทราบพยายามหาอาหารที่มีแคลเซียมกรอกลงท้องตลอด แต่ยังไม่เพียงพอให้มีแคลเซี่ยมส่วนเกินสำหรับผู้เป็นแม่
          แคลเซียมที่แม่กินลงไปจะไปเลี้ยงทารกส่วนใหญ่ ให้คลอดออกมาอย่างสมประกอบ แม่จึงเป็นผู้รับความทุกข์ยากนี้แทน
          แต่คุณผู้ชายคงประมาทไม่ได้เช่นเดียวกัน ว่าฉันไม่ได้เบ่งลูก ฉันเสี่ยงเรื่องกระดูกพรุนน้อยกว่าเมีย...ใครที่ไม่ใส่ใจในโภชนาการ ทุกคนมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน
          ใครก็ตามเมื่อมีปัญหานี้แล้วไปพบแพทย์ เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากมวลกระดูก ท่านก็จะได้รับแคลเซียมเสริมกลับบ้าน...ซึ่งนั่น...ยังไม่ใช่การเกาถูกที่คัน เพราะภาวะการณ์ขาดแคลเซี่ยม ไม่รู้ชัดว่าขาดแคลเซียมตัวไหน กินไปบางทีกลายเป็นกระดูกงอกขึ้นมาจากแคลเซี่ยมตัวที่ไม่ได้ใช้ มันไม่ถูกดูดซึมให้ไปสร้างมวลกระดูกตามระบบ มันจึงไปเป็นหินปูนงอกตามจุดต่างๆ
          หมอก็คือหมอ...ร่ำเรียนวิชาการใช้ยาเคมีมา ก็ต้องจ่ายอะไรที่เป็นเคมีให้ผู้ป่วยตามความถนัด ซึ่งคงไม่ใช่ความผิดของหมอฝ่ายเดียว มันเป็นปัญหาของทั้งระบบ
          การขาดแคลเซียม กินอาหารปลอดภัยกว่า เพราะว่าร่างกายดูดซึม ส่วนที่ไม่ใช้ร่างกายสามารถกำจัดได้ดีกว่าสารเคมี ความเสี่ยงเรื่องกระดูกงอกจะน้อยกว่า...มองดู...อาหารมากมาย มีองค์ประกอบของแคลเซียมปริมาณแคลเซียมมากน้อยในอาหารแต่ละชนิด วันนี้มีงานวิจัยรองรับชี้ชัดว่าอะไรดีกว่าอะไร
          ก่อนหน้านี้เราหลงเชื่อว่านมวัว มีแคลเซียมมาก จึงมีการรณรงค์ให้คนไทยดื่มนม และส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโคนม
          นม...มีแคลเซียมจริงอยู่...แต่วันนี้พบว่า อาหารไทยเราหลายอย่างมีแคลเซียมมากกว่านมหลายเท่า"งาดำ"...หนึ่งในอาหาร มีแคลเซียมสูงมาก สูงกว่านมหลายเท่า...แล้วจะดื่มนมไปทำไมให้เปลืองสตางค์ชาวจีนนั้นมีน้ำงาดำเป็นของหวาน ซดงาดำเพียงวันละแก้ว หรือดื่มน้ำงาดำบ่อยๆ เท่านี้ท่านก็จะปลอดจากการมีปัญหามวลกระดูกบาง หรือภาวะการณ์ขาดแคลเซียมที่จะทำให้เกิดอาการเก็งกล้ามเนื้อจนเป็นตะคริว...ขนมไทยมากมาย ที่มักโรยงาดำ นี่แหละคืออาหารที่เป็นยา...เดี๋ยวนี้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ของโครงการหลวงมีงาดำใส่ถุง เอาโรยใส่ข้าวกินทุกวันสิครับ
          ...สะดวกยิ่งขึ้นไปอีก ผลิตภัณฑ์จากงาดำ มีภาคเอกชนพัฒนา ให้ซื้อง่ายกินง่าย ทำเป็นของ กินเล่น ในรูปบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เห็นว่าหลายรายส่งไปขายต่างประเทศ โกยเงินเข้าประเทศเป็นกอบ เป็นกำ อย่างนี้หมอใบไม้เชียร์ใจขาด ไม่ว่าเป็นสินค้าของโครงการหลวง หรือภาคเอกชน เพราะวันนี้จะหา น้ำงาดำอร่อยๆ ต้องไปแถวเยาวราช กับข้างรั้วสวนลุมพินีด้านถนนสารสิน มองหาขนมที่มีงาดำบางครั้งนึกไม่ออกทั้งยังหายากอีก
          งาดำไอ้ที่ใส่ถุงของโครงการหลวง กับที่กินเป็นของขบเคี้ยวกรุบกรอบนี่แหละ แก้ปัญหากระดูกพรุนกับการเกิดตะคริวได้...โดยเฉพาะในเชิงป้องกัน กินของใครก็ได้ เพียงขอให้ดูกรรมวิธีการผลิต แล้วใช้สมองตรองดู ผมเชื่อว่าท่านทั้งหลายฉลาดพอ...แต่หากไม่แน่ใจ โทร.หาหมอใบไม้ 08-5151-8844


pageview  1205870    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved