HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 15/05/2555 ]
'ภาวะปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ' (De Quervain's Disease)

โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
          ภาวะนี้ผู้ป่วยมักจะมาด้วยอาการปวด เจ็บ บริเวณข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือ แรกๆ อาการเจ็บอาจไม่มากนัก ต่อมามักจะเจ็บมากขึ้น และกินยาไม่ค่อยหาย ส่วนใหญ่จะเจ็บมากในท่ากางนิ้วหัวแม่มือขึ้น หรือเวลาขยับข้อมือแนวข้าง อย่างเช่นเวลาทำกับข้าวหรือบิดผ้า โดยสรุปคือ อาการเหล่านี้มักพบในกลุ่มสตรีวัยกลางคน (ช่วงอายุ 30-50 ปีโดยประมาณ) ได้ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะสตรีที่ต้องทำงานบ้าน, ต้องพิมพ์ดีด, ทำกับข้าว
          สาเหตุ เชื่อว่าเกิดจากการใช้งานข้อมือซ้ำๆ บ่อยๆ แต่โดยทั่วไป ลักษณะที่ทำให้มีอาการ คือภายในปลอกหุ้มเอ็นมีอาการบวมและอักเสบ อาจพบได้บ่อยในกลุ่มสตรีมีครรภ์ ทั้งก่อนและหลัง คลอด ซึ่งเกิดจากการบวมของปลอกหุ้มเอ็น หรือในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งอาจจะมีปลอกเอ็นหนาง่ายกว่าปกติ
          สาเหตุจากกายวิภาค  อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของการเกิดอาการก็คือ ลักษณะทางกายวิภาคของกระดูกและเอ็นบริเวณนี้ โดยปกติเอ็นด้านหลังมือบริเวณข้อมือจะถูกแบ่งออกเป็นห้องๆ โดยทั่วไปมี 6 ห้อง แต่ละห้องมีเอ็นที่ไปเกาะยังจุดต่างๆ ของข้อมือและนิ้วมือ
          ในส่วนของโรคเดอ เกอร์แวงนี้ สาเหตุจะอยู่ที่ห้องที่ 1 หรือที่เรียกว่า 1 st  dorsal compartment โดยจะพบว่าปลอกหุ้มเอ็นบริเวณนี้จะหนาตัวและมีการอักเสบขึ้น จากการศึกษาโดยทั่วไปจะพบว่า คนไข้ที่มีอาการนี้พบบ่อยที่จะมีการแบ่งตัวของโพรงเอ็นเป็นอีก 2 ห้องย่อยๆ ทำให้แต่ละห้องย่อยๆ มีการแคบตัวมากกว่าปกติ จึงทำให้ผู้ที่มีอาการนี้เรื้อรังและไม่ค่อยหายขาดได้
          การรักษา  1.เริ่มจากกินยาลดอักเสบ, ปรับพฤติกรรมการใช้งาน, ดามข้อมือด้วยสนับหัวแม่มือ มักได้ผลดีหายได้ กรณีที่ปลอกหุ้มเอ็นอักเสบเฉียบพลันจากการบาดเจ็บ, ยกของหนัก และกายวิภาคของปลอกหุ้มเอ็นของผู้ป่วยบริเวณนั้น ปกติไม่มีการแบ่งห้องย่อยแยกเอ็นภายใน
          2.การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ กรณีที่กินยาไม่ได้ผล หรือกรณีสาเหตุของปลอกหุ้มเอ็นอักเสบ เกิดจากการบาดเจ็บซ้ำๆ, การใช้งานท่าซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ ปรับเปลี่ยนการใช้งานหรือพฤติกรรมการใช้งานไม่สำเร็จ อาจจำเป็นต้องฉีดยาที่จุดปวดบริเวณปลอกหุ้มเอ็นนั้น โดยทั่วไปถ้ากายวิภาคของปลอกหุ้มเอ็นปกติ ไม่มีห้องย่อยภายในอีกก็มักจะหายได้หรือดีขึ้นได้ค่อนข้างนาน
          3.การผ่าตัดรักษา กรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้งานท่าที่ทำให้เจ็บซ้ำๆ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้แล้ว ฉีดยามาแล้วหลายครั้ง โดยส่วนใหญ่แนะนำว่าถ้ามากกว่า 2 ครั้ง แล้วก็ยังมีอาการอีกภายในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือน อาจจำเป็นต้องผ่าตัดรักษาเพื่อคลายปลอกหุ้มเอ็นเพื่อลดการเบียดรัดเอ็นภายใน อาการจะได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีกายวิภาคภายในช่องหุ้มเอ็นผิดปกติหรือเคยมีกระดูกข้อมือผิดรูปเดิม อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดรักษา
          ข้อมูลจาก น.พ.ชัยรัตน์ วงศ์วรพิทักษ์ ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2/http://www.phyathai.com


pageview  1205106    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved