HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
บ้านเมือง [ วันที่ 10/05/2555 ]
เตือนภัย 7 สัญญาณอันตรายโรคข้ออักเสบในเด็ก

 เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินชื่อโรค "ภูมิต้านทานทำร้ายตัวเอง" หรือ "แพ้ภูมิตัวเอง" กันมาบ้างอย่างแน่นอน...ซึ่งโรคดังกล่าวเกิดจากภูมิต้านทานที่ทำงานเกินหน้าที่ที่ควรจะเป็น กล่าวคือ เมื่อภูมิต้านทานได้กำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายเราหมดแล้ว แทนที่ภูมิต้านทานจะหยุดทำงานกลับทำงานไม่ยอมหยุด ซ้ำร้ายหันกลับมาทำร้ายอวัยวะต่างๆ ของตัวเราเองอีก และหากทำร้ายข้อเป็นเวลานานจนกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง ก็กลายเป็นโรคหนึ่งซึ่งเรียกในศัพท์ทางการแพทย์ว่า "โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก"หรือเรียกสั้นๆ ว่าJIA
          ทั้งนี้ "อาจารย์ พ.ญ.ศิริรัตน์ จารุวณิช" หัวหน้าสาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสม์เด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เปิดเผยสัญญาณอันตรายที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการในบุตรหลานของตนว่าจะมีแนวโน้มเป็นโรค JIA หรือไม่ ได้แก่ 7 สัญญาณอันตรายดังต่อไปนี้ 1.ปวดข้อและข้อบวมเป็นระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ 2.ข้อฝืดติดขยับลำบากโดยเฉพาะหลังจากตื่นนอนช่วงเช้าต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 30 นาที 3.มีอาการปวดข้อเมื่อพักการใช้ข้อนั้น และอาการปวดข้อดีขึ้นเมื่อได้เคลื่อนไหวข้อซักระยะ 4.เดินกะเผลกโดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังจากตื่นนอน หรืออยู่ในอิริยาบถเดิมเป็นระยะเวลานาน 5.ข้อผิดรูป ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ 6.ในเด็กเล็กอาจมีพัฒนาการถดถอย ซึ่งเป็นผลจากการไม่ยอมใช้งานข้อที่เกิดการอักเสบนั้น เช่น เคยเดินได้แล้วไม่ยอมเดิน ไม่ยอมลงน้ำหนักที่ข้อนั้นๆ 7.มีไข้สูงวันละ 1-2 ครั้ง ร่วมกับมีผื่นสีชมพูอมส้มขึ้นตามลำตัว แขนและขา เวลาที่มีไข้สูง
          สัญญาณสำคัญทั้ง 7 ข้อนี้ เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นในอาการของโรค JIA ซึ่งแท้จริงแล้วโรคดังกล่าวยังสามารถแบ่งลักษณะตามอาการได้ถึง 7 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะอาการแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามกลุ่มที่รุนแรงและอาจมีโอกาสถึงขั้นเสียชีวิตได้จากภาวะแทรกซ้อน คือ กลุ่มโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดที่มีไข้และผื่น ซึ่งกลุ่มนี้มีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อ หัวใจ ปอด ตับ เม็ดเลือด ลักษณะอาการเบื้องต้นของคนไข้กลุ่มนี้คือ เด็กจะมีไข้สูงวันละ1-2 ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยหาสาเหตุไม่ได้ มักปวดกล้ามเนื้อและข้อ นอกจากนี้ตามลำตัวมักจะมีผื่นสีชมพูอมส้ม คล้ายสีเนื้อปลาแซลมอน หรือที่เรียกว่า ผื่นแซลมอน (Salmon rash) โดยผื่นนี้จะขึ้นพร้อมๆ กับไข้ และจะหายไปเมื่อไข้ลง ผื่นมักจะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ
          คุณหมอยังกล่าวอีกว่า ในต่างประเทศ อุบัติการณ์การเกิดโรคดังกล่าวสามารถพบได้ 2-20 รายต่อประชากร 100,000 ราย ขณะนี้ยังไม่มีรายงานข้อมูลด้านสถิติในประเทศไทย แต่คาดว่ามีเด็กไทยที่เป็นโรคนี้แล้วประมาณ 300-400 ราย และถึงแม้จะมีเปอร์เซ็นต์การเกิดเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ แต่หากได้รับการวินิจฉัยล่าช้า อันตรายของโรคดังกล่าวสามารถทำให้ลูกน้อยของคุณพิการและอาจจะอันตรายถึงแก่ชีวิตได้


pageview  1205128    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved