HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 26/01/2561 ]
กทม.พ้นขีดอันตราย คพ.แจงมลพิษลดลงชี้เกิดทุกปีแค่ระยะสั้น สธ.เตือน4กลุ่มเสี่ยง

  กรมควบคุมมลพิษแจงมลพิษ กทม.ลดลงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ชี้เป็นเหตุการณ์ปกติเกิดทุกปี แค่ช่วงสั้นๆ ปลายหนาวเข้าร้อน เผย 1 สัปดาห์ ที่ผ่านมาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 5 วัน ด้าน สธ.ห่วงแค่ 4 กลุ่มเสี่ยง ชี้ประชาชนทั่วไปใส่หน้ากากอนามัยได้แต่ไม่อยากให้ ตื่นตระหนก แนะคนทำงานกลางแจ้ง ใส่หน้ากาก เอ็น 95 กรองฝุ่นขนาดเล็กได้ผล
          เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงถึงสถานการณ์มลพิษในกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สูงเกินมาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เนื่องจากสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ไม่มีแสงแดด และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมากและไม่ระบาย ทำให้มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อ ร่างกาย หลายคนจึงเกิดอาการระคายคอ หายใจไม่สะดวก
          โดยนายเถลิงศักดิ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบฝุ่นละออง PM 2.5 พบว่า ฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลงทุกพื้นที่ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ตรวจวัดได้ 57 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน จะมีค่าพุ่งสูงช่วงปลายหนาวต้นร้อนช่วงปลายเดือนมกราคม จากสถิติตั้งแต่ปี 2558-2560 มีค่าเกินมาตรฐานทุกปี แต่เป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้น ซึ่งปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ มีค่าเกินมาตรฐาน 5 วัน ส่วนสถานการณ์มลพิษวันนี้เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
          นายเถลิงศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน และไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากเกินมาตรฐานจะส่งผลกระทบ ต่อร่างกาย เพราะเป็นฝุ่นละอองที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้ เมื่อเข้าไปแล้วจะเกาะตัวในระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นๆ เช่น เนื้อเยื่อปอด ถ้าได้รับปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน จะสะสมในเนื้อเยื่อปอด เกิดเป็นพังผืดหรือแผลขึ้นได้ ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพ หลอดลมอักเสบ เกิดหอบหืด ถุงลมโป่งพอง และโอกาสเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
          ส่วนข้อสังเกตว่าเป็นหมอก หรือควันนั้น นายเถลิงศักดิ์กล่าวว่า ถ้าเป็นหมอกจะมีสีขาว แต่ถ้ามีฝุ่นละอองปนมาด้วยจะออกสีขาวปนน้ำตาล ถ้าประชาชนเห็นว่าเริ่มมีฝุ่นละอองควรหลีกเลี่ยงเผชิญอากาศภายนอก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายภายนอกอาคาร เด็กและผู้สูงอายุ ไม่ควรทำกิจกรรมภายนอกอาคารเป็นเวลานาน และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดี ไม่ปล่อยควันดำ ถ้าเป็นไปได้ควรลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล จะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้
          ด้านนางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงสถานการณ์มลพิษของกทม.และปริมณฑลผ่านแฟนเพจกรมควบคุมมลพิษว่า ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 10 นั้นยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่ 120 มคก./ลบ.ม. ดังนั้น กรณีมีการแชร์ข้อความระบุกทม.มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในระดับวิกฤตินั้น เป็นการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า หมอกควันที่พบในกทม. มีลักษณะคล้ายกับหมอกควันที่พบในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ใช่หมอกควันตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการเผาไหม้ และมีขนาดเล็กกว่า คือขนาด 2.5 ไมครอน สามารถหลุดรอดเข้าไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดของปอด นอกจากขนาดหมอกควันจะเล็กแล้ว ต้องดูค่าความหนาแน่นของหมอกควันด้วย หากหนาแน่นมากย่อมกระทบร่างกาย ซึ่งในสภาพอากาศลักษณะนี้ กลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง รวมถึง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็กและผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นขนาดเล็ก
          พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สำหรับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ค่าฝุ่นละอองไม่ควรเกิน 25 มคก./ลบ.ม. ในเวลา 24 ชั่วโมง แต่ค่าของประเทศไทยกำหนดไว้ว่า ไม่ควรเกิน 50 มคก./ลบ.ม. ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ คำนวณมาแล้วว่า หากประชาชนได้รับค่าฝุ่นละอองที่ตัวเลขดังกล่าวพบว่าร้อยละ 80 จะไม่มีอาการป่วย แต่อาจมีประมาณร้อยละ 10 จะป่วยได้ ซึ่งเป็นในกลุ่มเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ต้องดูเรื่องของเวลาซึ่งจะอยู่ที่ 24 ชั่วโมง หากอยู่กลางแจ้งก็เสี่ยงมาก แต่ถ้านั่งอยู่ในที่ทำงานและเจอฝุ่นละอองประมาณ 1-2 ชั่วโมงจะไม่กระทบ ถ้าเราต้องทำงานกลางแจ้งนานเป็นครึ่งวันควรสวมหน้ากากอนามัยชนิด เอ็น 95 ซึ่งกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มาก ส่วนระยะสั้น ไม่ใช่ว่ารับฝุ่นแล้วเกิดอาการขึ้นเลย แต่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อรับฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมาแล้ว 12-72 ชั่วโมง หรือประมาณ 1-2 วัน ก็เป็นได้


pageview  1205108    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved