HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 29/03/2560 ]
ปรับโฉมเรือนจำปลอดควันบุหรี่

  จากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ ทั่วประเทศ พบผู้ต้องขังมากกว่าร้อยละ 75 สูบบุหรี่ ซึ่งนอกจากจะทำลาย สิ่งแวดล้อมในเรือนจำแล้ว ยังทำลายสุขภาพของผู้ต้องขัง อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรังภายในเรือนจำทุกแห่ง
          แต่จากการทำงานของ สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ตั้งเป้าหมายในการส่งเสริม สุขภาพอันดีให้กับคนทุกคน ทำให้ได้พบว่า ปัญหาในเรื่องของพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ของผู้ต้องขังได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา สสส.ได้พา คณะสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมเรือนจำกลางกำแพงเพชร ในฐานะเป็นเรือนจำที่ประสบ ความสำเร็จแห่งแรกของไทย ในการดำเนินโครงการสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ ที่สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบให้แก่เรือนจำอื่นๆ ต่อไปได้ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สสส. กรมราชทัณฑ์ และเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย
          จากสิ่งที่เห็น พบว่า การสร้าง สิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ เป็นหนึ่ง ในความพยายามที่เรือนจำกลางกำแพงเพชร ต้องการให้ผู้ต้องขังเลิกสูบบุหรี่ เพราะนอกจากความห่วงใยในสุขภาพของ ผู้ต้องขังแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองสุขภาพของผู้ต้องขังรายอื่นที่ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วย
          น.ส.โศรยา ฤทธิ์อร่ามผู้บัญชาการเรือนจำกลางกำแพงเพชร เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่แก่ผู้ต้องขัง พร้อมกับกำหนดมาตรการควบคุมผู้ต้องขังที่ยัง ไม่พร้อมที่จะเลิก แต่พร้อมที่จะลดการสูบบุหรี่ ทั้งกำหนดวันจำหน่ายบุหรี่เหลือเพียงสัปดาห์ละ 2 วัน รวมทั้งการกำหนด จุดสูบบุหรี่แดนละ 1 จุด และกำหนดพื้นที่ห้ามสูบ ได้แก่ สถานพยาบาล โรงอาหาร แดนหญิง แดนควบคุมพิเศษ ห้องเยี่ยมญาติและเรือนนอน นอกจากนี้การกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการลดและเลิกบุหรี่ได้
          ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุน สสส. ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้สถานที่ต่างๆ ได้รับการส่งเสริมให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ แต่ "เรือนจำ" ยังคงเป็นสถานที่ที่ ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด สสส.จึงส่งเสริมและพัฒนาให้เรือนจำเป็นเขตปลอดบุหรี่ ซึ่งจากตัวเลขในการสำรวจพบว่า ในปี 2558 มีผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน และพบว่า กลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ตายจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 50,710 คน เป็นผู้ชาย 42,989 คน และผู้หญิง 7,721 คน สำหรับในส่วนของ ผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ พบผู้ต้องขังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ มากกว่าร้อยละ 75 ดังนั้นการใช้มาตรการทางสังคมในเรือนจำ จึงเป็นวิธีช่วยให้การควบคุมดีขึ้น เพราะถ้ามีการแอบสูบบุหรี่ จะต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วยการถูกปิดทีวี. มาตรการนี้ทำให้ผู้ต้องขังต้องเตือนกันเอง อย่างไรก็ตามหากผู้ต้องขังเลิกบุหรี่ได้ด้วยตนเอง รู้จักเคารพสิทธิผู้อื่น ประโยชน์จะเกิดที่ตัวของผู้ต้องขังเอง ที่จะมีสุขภาพที่ดีขึ้นและไม่ไปทำร้ายคนอื่นด้วยการสูบบุหรี่
          นอกจากเรือนจำกลางกำแพงเพชรแล้ว ยังมีเรือนจำหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และเรือนจำกลางมหาสารคาม ที่สามารถพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบเรือนจำปลอดบุหรี่ โดย รศ.ดร.สุรินธร กลัมพากร ผู้รับผิดชอบ โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ ในเรือนจำ เผยภาพรวมการดำเนินงานของเรือนจำทั้ง 13 แห่ง พบว่า มีผู้ต้องขังได้รับการช่วยเหลือให้เลิกบุหรี่ จำนวน 750 คน ในจำนวนนี้มี 258 คน หรือร้อยละ 34.4 ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ต่อเนื่องเกิน 6 เดือน เรือนจำที่เข้าร่วมโครงการมีนโยบายการควบคุมยาสูบและการพัฒนาสถานที่ปลอดบุหรี่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สสส.เตรียมขยายผลเรือนจำปลอดบุหรี่ทั่วประเทศอีกไม่น้อยกว่า 10 แห่ง
          สำหรับความเห็นของ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ เรือนจำกลาง กำแพงเพชร คือ คุณเศกสรรค์ จันทรปราสาทเล่าให้ฟังว่า การสูบบุหรี่ในเรือนจำส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพผู้ต้องขังอย่างมาก ซึ่งการจัดทำกลุ่มสมัครใจเลิกสูบบุหรี่แบบมีพี่เลี้ยง โดยมีผู้ต้องขังที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้วเป็นพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องขังสามารถเลิกบุหรี่ได้ ที่ผ่านมามี ผู้ต้องขังสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 6 รุ่น จำนวน 140 ราย ในจำนวนนี้สามารถเลิกบุหรี่ได้ 82 ราย และอีก 24 ราย สามารถลดปริมาณการสูบลง
          ส่วนความรู้สึกของผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ เล่าว่า การเลิกบุหรี่ในช่วงเดือนแรกๆ ถือว่ายากมาก แต่พอได้มีโครงการนี้เข้ามา ก็ทำให้สามารถเลิกได้ง่ายกว่าที่เราเลิกเอง เพราะจะมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำและชวนทำกิจกรรม เพื่อเบนความสนใจไม่ให้กลับไปสูบบุหรี่อีก เช่นเดียวกับ ผู้ต้องขังที่เลิกบุหรี่ได้อีกรายหนึ่ง เผยว่า สูบบุหรี่จัดตั้งแต่อยู่นอกเรือนจำ ส่งผลทำให้สมองเชื่องช้าและสุขภาพย่ำแย่ จึงอยากเลิกสูบบุหรี่ โดยเริ่มจากเปิดใจรับฟัง คำแนะนำจากพี่เลี้ยง ที่สำคัญเราต้องเอาชนะใจตัวเองให้ได้
          เชื่อได้ว่าการรณรงค์ป้องกันของ โครงการนี้ จะช่วยให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ เลิกบุหรี่ได้ และพัฒนาให้เรือนจำทั่วประเทศ เป็นเขตปลอดบุหรี่ได้ในที่สุด


pageview  1205109    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved