HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 07/03/2555 ]
ปัญหาหมอกควันภาคเหนือดับได้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น?

"เรื่องของไฟป่า ชาวบ้านทุกคนก็มีความตระหนักมากขึ้น เมื่อก่อนนี้สัก 5-10 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงหน้าร้อนไฟจะไหม้ไปหมดทั้งดอย แต่ปัจจุบันนี้ป่าแน่นขึ้น พื้นที่ป่าก็เพิ่มขึ้น และทางคณะกรรมการได้มีการคุยกับชาวบ้านให้มีการจัดแบ่งเวลาการเผาไร่เพราะถ้าหากไม่เผาก็จะเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ในการใช้ยาและสารเคมีเพื่อฆ่าหญ้า ซึ่งชาวบ้านบนดอยจะเริ่มเผาไร่ในช่วงที่ก่อนฝนจะตก"
          สุขภาพย่ำแย่ไปตามๆ กัน สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่8 จังหวัดภาคเหนือ คือ จ.เชียงใหม่, แพร่, เชียงราย, พะเยา,ลำปาง, แม่ฮ่องสอน, น่าน และ จ.ลำพูน  ที่กำลังประสบปัญหา "หมอกควัน" ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ  เสี่ยงเกิดภาวะ หอบ หืด หลอดลมอักเสบ  และหากได้รับการสูดดมควันพิษระยะยาวจะมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพอง หรือ โรคปอด รวมทั้งยังอาจทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
          ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่านับถึงเวลานี้มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลเพิ่มกว่า 10,000 รายต่อวัน และเมื่อทำการวัดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองพบว่าพุ่งทะลุไปถึง 200-300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
          หากวิเคราะห์ลงไปให้ถึงราก จะพบว่า สาเหตุหลักของปัญหาหมอกควัน เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกันไม่ว่าจะเป็นไฟป่า ฝุ่นละอองจากถนน การก่อสร้าง ควันและเขม่าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะประเภทต่างๆ รวมไปถึงสภาพของความกดอากาศในขณะนั้น ประกอบกับสภาพภูมิประเทศ ซึ่งมีภูเขาล้อมรอบทำให้มลพิษต่างๆ ถูกกักไว้และแผ่ปกคลุมไปทั่วเมือง
          แทบทุกครั้งที่เกิดวิกฤติหมอกควันขึ้น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมักจะพุ่งเป้าที่ไป "เกษตรกรบนพื้นที่สูง"ว่าเป็นต้นตอของปัญหา โดยมีที่มาจากการเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ทำให้มีมาตรการการแก้ปัญหาด้วยการ "ห้ามเผา"อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยมิได้คำนึงถึง "ระบบการผลิต"ของชาวบ้านบนพื้นที่สูง หรือภูมิปัญญาชาวบ้านในการ"ชิงเผา" เพื่อบรรเทาปัญหาไฟป่าของชุมชนสิ่งเหล่านี้นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุมแล้ว ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง "คนเมือง"กับ "คนชนบท" ขัดแย้งระหว่าง "เกษตรกร" กับ "ภาครัฐ"ที่ส่งผลกระทบขยายวงกว้างไปสู่การดำเนินงานด้านอื่นๆ
          บุญตา สืบประดิษฐ์ ผู้จัดการโครงการความร่วมมือเพื่อจัดการไฟป่าแบบผสมผสานลดปัญหาหมอกควัน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เคยให้สัมภาษณ์ว่า แนวทางหรือมาตรการการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ถูกต้อง จะต้องเกิดขึ้นมาจากการมีข้อมูลที่รอบด้าน ทางมูลนิธิจึงร่วมกับแต่ละชุมชน รวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงในพื้นที่แล้วนำไปเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ชาวบ้าน"มีทางเลือก" ในการจัดการกับปัญหาที่ผสมผสานระหว่าง"วิทยาศาสตร์" และ "ภูมิปัญญาดั้งเดิม" ของชุมชน เช่นการ "ชิงเผา" เพื่อลดการสะสมของเชื้อเพลิงในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ"
          "งานที่ทำร่วมกับชุมชน คือ พัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนเพราะว่าไฟป่า มีความสัมพันธ์กับทรัพยากร และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทำอย่างไรให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่ามีความเข้มแข็ง ให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าภาพ ที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหา ไม่เหมือนในอดีตที่ชาวบ้านจะโยนความรับผิดชอบให้กับหน่วยงานต่างๆ เช่น หากเกิดไฟป่าก็จะให้ศูนย์ควบคุมไฟป่ามาดูแลซึ่งโครงการความร่วมมือเพื่อจัดการไฟป่าแบบผสมผสานได้ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายในป่า เป็นเครือข่ายระบบนิเวศน์ผืนใหญ่ ที่มีพลังในการจัดการกับปัญหาทรัพยากรชุมชน และไฟป่าได้มากขึ้น โดยประสานความร่วมมือกับภาครัฐ บนพื้นฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกัน"  บุญตาระบุ
          สมพล อนุรักษ์วนภูมิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เล่าว่านับตั้งแต่ปี2548 เป็นต้นมา เมื่อชาวบ้านทั้งบนดอยและพื้นที่เชิงดอยหันมาปลูกข้าวโพด และต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก ทำให้มีการเผาไร่ตั้งแต่เดือนก.พ.-เม.ย.  เพื่อกำจัดวัชพืช และเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูก จึงทำให้มีปัญหาไฟป่า และหมอกควันในช่วงดังกล่าว
          "ชุมชนของเรา แต่เดิมก็มีภูมิปัญญาในเรื่อง
          ของการทำแนวกันไฟในเขตป่าของชุมชน และมีความเชื่อว่าไฟ เป็นโทษมหาศาล ถ้าไฟไหม้ป่า ก็ทำให้ให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ตายหมด อาหารก็จะไม่มี น้ำก็จะแห้ง"
          สมพลยืนยันว่า การเผาไร่นั้นเป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านที่อยู่บนพื้นที่ภูเขาจะต้องทำ แต่ชาวบ้านบนดอยส่วนใหญ่จะเริ่มเผากันในราวต้นเดือนเม.ย. เพราะหลังจากนั้นไม่นานฝนบนดอยก็จะตกที่ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่มจ.เชียงใหม่ คือ ตัวอย่างที่ดีในการจัดการปัญหาทรัพยากรชุมชน และไฟป่า โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐและชาวบ้าน
          พ่อหลวงปราโมทย์ กองจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.บ้านทับ อ.แม่แจ่ม เล่าว่า ชุมชน ต.บ้านทับ  มีการจัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ป่า ที่ประกอบด้วยกรรมการหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเฝ้าระวัง และดูแลป่าของชุมชนในกรณีที่มีไฟป่า เข้ามาในพื้นที่ที่ชาวชุมชนจะระดมชาวบ้านออกมาช่วยกันดับไฟ
          นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบของหมู่บ้านในการควบคุมป้องกันไฟป่า เช่น ถ้าจะเผาไร่ต้องทำแนวกันไฟหรือแจ้งกรรมการอนุรักษ์ป่าให้รู้ล่วงหน้า
          "เรื่องของไฟป่า ชาวบ้านทุกคนก็มีความตระหนักมากขึ้น เมื่อก่อนนี้สัก 5-10 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงหน้าร้อนไฟจะไหม้ไปหมดทั้งดอย แต่ปัจจุบันนี้ป่าแน่นขึ้น พื้นที่ป่าก็เพิ่มขึ้น และทางคณะกรรมการ ได้มีการคุยกับชาวบ้านให้มีการจัดแบ่งเวลาการเผาไร่ เพราะถ้าหากไม่เผาก็จะเป็นปัญหาสำหรับเกษตรกร ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการใช้ยาและสารเคมีเพื่อฆ่าหญ้า ซึ่งชาวบ้านบนดอยจะเริ่มเผาไร่ในช่วงที่ก่อนฝนจะตก ดังนั้นปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นในเดือนก.พ.-มี.ค. จึงน่าจะมีสาเหตุ มาจากปัจจัยอื่นๆ"  พ่อหลวงปราโมทย์ ว่าอย่างนั้น
          ทั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหาไฟป่า จะต้องเกิดขึ้นมาจากชุมชน เพราะชุมชนมีกำลังคนมากกว่าภาครัฐ และกระจายอยู่รอบๆ พื้นที่ป่า ด้วยเหตุที่กำลังคนที่มากกว่าและเป็นคนในพื้นที่ ชาวบ้านจึงมีบทบาทในการแก้ปัญหาได้ดีกว่า  การเพิ่มความรู้ และศักยภาพของชุมชนจะช่วยให้ชุมชนสามารถประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และก็เป็นการช่วยเสริมพลังในการจัดการกับปัญหาไฟป่าอย่างได้ผลอีกด้วย


pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved