HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 28/01/2557 ]
สธ.ห่วง5กลุ่มเสี่ยงเกิดอาการ'เครียดการเมือง'
  นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ทำให้ ประชาชนตื่นตัว สนใจติดตามข่าวสาร บ้านเมืองอย่างใกล้ชิด และอยู่ภายใต้สภาวะกดดัน ทำให้มีผลกระทบต่ออารมณ์และเกิด ความเครียดโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากไม่สามารถจัดการกับความเครียดให้หายไปได้ หรือไม่หายไปตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น และสะสมความไม่สบายใจไปเรื่อยๆ อาจพัฒนาไปสู่กลุ่มอาการที่เรียกว่า เครียดจากการเมืองหรือเรียกว่า พีเอสเอส (PSS: Political Stress Syndrome ) ซึ่งไม่ใช่โรคจิต แต่เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือติดตามสนใจปัญหาการเมืองอย่าง ใกล้ชิด หรือมีความเอนเอียงไปกับกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง จนทำให้เกิดอาการทางจิตใจ ทางกาย และกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น ที่สำคัญ คืออาจมีความคิดคาดการณ์ที่นำไปสู่ความวิตกกังวล หรือกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคต เช่นกลัวว่าจะเกิดความรุนแรงเช่นในอดีต ซึ่งเป็นความหวั่นวิตกที่แฝงอยู่ในใจคน ส่วนหนึ่ง
          บุคคลที่มีความเสี่ยงเกิดอาการ พีเอสเอส มี 5 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.กลุ่มนักการเมือง 2.กลุ่มที่สนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย 3.กลุ่มผู้ติดตาม 4.กลุ่มผู้ที่สนใจข่าวสารการเมือง และ5.กลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ลักษณะกลุ่มอาการพีเอสเอส จะปรากฏออกมา 3 อาการ คือทางกาย จิตใจ และกระทบต่อ ความสัมพันธภาพกับผู้อื่น โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้ 1.อาการทางกาย จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ  ตึงบริเวณขมับ ต้นคอ แขน ขา นอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ ตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจไม่อิ่ม แน่นหรือ ปวดท้อง และชาตามร่างกาย 2.อาการทางใจ จะมีความวิตกกังวล ครุ่นคิดตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีทางออก ไม่มีสมาธิ ฟุ้งซ่าน หมกมุ่นมากเกินไป และ3.มีปัญหาพฤติกรรมสัมพันธภาพกับ ผู้อื่น โดยมีการโต้เถียงกับผู้อื่น หรือแม้กระทั่ง คนในครอบครัว ใช้อารมณ์ปานกลางถึงรุนแรง ยับยั้งตนเองไม่ได้ มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ หรือเอาชนะทางความคิดกับคนที่เคยสนิทกัน เป็นต้น

pageview  1206027    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved