HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 02/12/2556 ]
องค์การเภสัชกรรมผลิตยาต้านไวรัสเอดส์เพิ่ม2รายการ
 นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยในปี 2556 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์สะสมประมาณ 1,166,543 คน ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 447,640 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 8,959 คน กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมเร่งวิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสเอดส์ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและมีคุณภาพ
          สำหรับองค์การเภสัชกรรม ได้วิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 กว่า 25 รายการ มีการพัฒนาสูตรตำรับยาต้านไวรัสเอดส์ทั้งสูตรยาเดี่ยวและยารวม และได้กระจายสู่ผู้ป่วยในปี พ.ศ.2538 จนในปี พ.ศ.2544 ได้ขยายกำลังการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรม พัฒนาสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ จีพีโอ -วีไออาร์ เอส 30 (GPO-VIR S30 ฎ) โดยรวมยา 3 รายการ ไว้ในเม็ดเดียวกัน ประกอบด้วย เนวิราปีน(nevirapine) 200 มิลลิกรัม, ลามิวูดีน (lamivudine) 150 มิลลิกรัม และสตาวูดีน (stavudine) 50 มิลลิกรัม และยาจีพีโอ -วีไออาร์ แซด 250 (GPO-VIR Z250 ฎ) ประกอบด้วย เนวิราปีน (nevirapine) 200 มิลลิกรัม, ลามิวูดีน (lamivudine) 150 มิลลิกรัม และซิโดวูดีน (zidovudine) 250 มิลลิกรัม โดยได้รับอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสูตรตำรับยา รวมนี้ ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาได้สะดวกขึ้น และลดปัญหา การลืมรับประทานยา ป้องกันการดื้อยาในอนาคต
          ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคมจะผลิตยาเพิ่มอีก 2 รายการเป็นยาชื่อสามัญ คือ ยา ทีโนโฟเวีย ดีเอฟ/เอ็มไตรซิตาไบ (Tenofovir DF/Emtricitabine) ชนิดเม็ดขนาด 300/200 มิลลิกรัม ผสมอยู่ในเม็ดเดียวกัน และยาเอฟฟาไวเรน (Efavirenz) ชนิดเม็ดขนาด 50/200/600 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาที่รัฐบาลเคยประกาศการบังคับใช้สิทธิ์ตามสิทธิบัตร หรือซีแอล (Compulsory Licensing : CL)ไปก่อนหน้านี้ ปัจจุบันได้หมดสิทธิบัตรแล้ว องค์การเภสัชกรรม จึงได้วิจัยและผลิตให้มีขนาดของความแรงต่างๆ โดยยาทั้ง 2 รายการ เป็นยาต้านไวรัสเอดส์สูตรตั้งต้น เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่เพิ่งเข้ารับการรักษาเป็นครั้งแรก หรือสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาสูตรเดิมได้ โดยได้พัฒนาจนสามารถลดจำนวนครั้งที่ต้องรับประทานจากวันละ 2 ครั้ง เหลือรับประทานวันละ 1 ครั้ง ช่วยเพิ่มความสะดวกในการกินยาของผู้ป่วย ป้องกันการลืมกินยา อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่าย ในการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้จำนวนมาก โดยยาใหม่ ทั้ง 2 รายการนี้ มีประสิทธิผลเทียบเท่ายาต้นแบบ

pageview  1205923    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved