HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 26/07/2556 ]
ระวังภัยเชื้อร้าย เอช. ไพโลไร ต้นเหตุมะเร็งกระเพาะอาหาร

  ศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรแห่งชาติ โดยการสนับสนุนจาก บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด จัดงานเสวนา "เอช.ไพโลไร แบคทีเรีย ตัวร้ายกับโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง รู้ทัน...รักษาได้" รณรงค์ให้ความรู้ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรังจากเชื้อ เอช.ไพโลไร (H.pylori) พร้อมพูดคุยเรื่องการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคแผลในกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดย ศ.พญ.วโรชา มหาชัย และ รศ.ดร.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ โดยมีพระเอกหนุ่มสุดฮอต อาเล็ก-ธีรเดช เมธาวรายุทธ มาร่วมงาน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ลานอินฟินิซิตี้ ฮอลล์ พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
          ศ.พญ.วโรชา มหาชัย ประธานศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร แห่งชาติกล่าวถึงสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ว่า ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร ส่วนใหญ่จะมีอาการเกี่ยวกับกระเพาะอาหารส่วนบน มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก จุกเสียด แสบท้อง อาหารไม่ย่อย ซึ่งผู้ป่วยอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าเป็นอะไร โดยผู้ป่วยส่วนมากมักจะซื้อยารับประทานเอง ก่อนไปพบแพทย์หรือตรวจรักษา ซึ่งก็ทำให้อาการบรรเทาลงได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา รวมถึงการตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือเรียก เอช.ไพโลไร (H.pylori) มักจะพบอยู่ในเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งของโรคแผลในกระเพาะอาหาร
          ด้าน รศ.ดร.นพ.รัฐกร วิไลชนม์ เลขาธิการศูนย์วิจัยมะเร็งกระเพาะอาหารและการติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีพ.ศ.2537 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้การติดเชื้อ เอช.ไพโลไรเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร สำหรับในประเทศไทยพบมีการติดเชื้อ เอช.ไพโลไร ถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งการติดเชื้อชนิดนี้ นอกจากจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร (MALT lymphoma) อีกด้วย
          ทั้งนี้ โรคแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการติดเชื้อ เอช.ไพโลไร สามารถรักษาและมีโอกาสหายขาดได้ เพียงหมั่นสังเกต พฤติกรรมว่ามีอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่ รวมถึง มีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงการติดเชื้อเอช.ไพโลไร อาทิ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ ปวดท้องรุนแรง ปวดท้องกระเพาะอาหารเรื้อรังเป็นเวลานานเกิน 1 เดือน หรือเบื่ออาหารน้ำหนักลดลงมาก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา และรับการรักษาอย่างถูกวิธี
          "การปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร อาทิ รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ให้ตรงเวลา หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด รสจัด งดบุหรี่ งดการดื่มสุรา งดการใช้ยาแอสไพริน และ ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวลทั้งหลาย รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอก็จะช่วยป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหารได้" รศ.ดร.นพ.รัฐกร กล่าวในที่สุด


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved