HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์แนวหน้า [ วันที่ 01/07/2556 ]
การป้องกันการเสียชีวิตในมารดา

  การเสียชีวิตของมารดา เป็นเหตุการณ์เศร้าสลดที่สร้างความทุกข์ใหญ่หลวง อย่างหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้ มีผลกระทบไม่เฉพาะกับครอบครัวผู้สูญเสีย แต่มีผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของ ประเทศชาติ สาเหตุการเสียชีวิตของมารดาในประเทศไทย มี 4 สาเหตุนำดังนี้
          1.ตกเลือด อาจเป็นการตกเลือดจากการแท้งบุตร ตกเลือดก่อนคลอด ในขณะคลอด หลังคลอด และการตกเลือดจากการตั้งครรภ์ นอกมดลูก
          2.ความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ ที่ทำให้เสียชีวิตมากคือ อาการครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง
          3.ติดเชื้อ เช่นเชื้อเอชไอวี, ไวรัสไข้หวัดใหญ่, มาเลเรีย, เชื้อโรคจากการทำแท้งเถื่อน ฯลฯ
          4.ภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอด เกิดจากน้ำคร่ำของเด็กเข้าเส้นเลือดดำมารดามักจะเกิดในช่วงคลอด หรือหลังคลอดทันที โอกาสเสียชีวิต ร้อยละ 10-90 มีอาการที่ตรวจพบ 3 อย่างด้วยกัน คือช็อกจากหัวใจทำงานผิดปกติ ช่วงนี้ มีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 85, ขาดออกซิเจนและการหายใจล้มเหลว เป็นสาเหตุร้อยละ 50 ที่ทำให้คนไข้เสียชีวิตภายใน ครึ่งชั่วโมง, ตามมาด้วย อาการเลือดไม่แข็งตัว พบร้อยละ 80
          การป้องกันการเสียชีวิตของมารดาที่มีประสิทธิภาพนั้นมีดังนี้1.การบริการทางการแพทย์ งานวิจัยพบว่าในประเทศที่ด้อยพัฒนาหากมีการพัฒนาปรับปรุงเรื่องต่อไปนี้ จะสามารถป้องกันการตายของมารดาได้ถึง 3 ใน 4 คือ
          - การบริการทางด้านคุมกำเนิด รวมถึงการทำแท้งที่ถูกวิธี โดย มีบุคลากรผู้มีความรู้ ความชำนาญ หากบริการได้ตามเป้าหมาย สามารถลด...การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม การตั้งครรภ์เสี่ยงสูง การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและวัยสูงอายุ รวมไปถึงการมีลูกจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
          - การเดินทาง และการส่งตัว จากโรงพยาบาลหนึ่งสู่ โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง
          - ความสามารถและประสิทธิภาพในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในขณะมาคลอด
          - ความสามารถในการผ่าตัดและดูแลภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นโดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนด 7 ฉุกเฉินที่ต้องมีความสามารถแก้ไขได้คือ การแก้ไขภาวะติดเชื้อโดยการให้ยาปฏิชีวนะ, การรักษามดลูกไม่หดรัดตัวซึ่งเป็นสาเหตุการตกเลือดหลังคลอดที่พบมากที่สุด, การรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยการให้ยาแมกนีเซียมซัลเฟต, เมื่อรกไม่คลอดสามารถล้วงรกได้, สามารถขูดมดลูกได้ในกรณีเกิดแท้งค้าง, มีความสามารถช่วยคลอดด้วยเครื่องดูดสุญญากาศและคีมช่วยคลอดในกรณีที่มารดาเบ่งไม่ออก และ 7 ฉุกเฉินสุดท้ายคือ สามารถช่วยฟื้นคืนชีพทารกขั้นพื้นฐานได้
          2.มีเครื่องอัลตร้าซาวนด์ เพื่อช่วยการตรวจวินิจฉัยภาวะฉุกเฉิน ในมารดา เช่น ตั้งครรภ์นอกมดลูก ,รกลอกตัวก่อนกำหนด, รกเกาะต่ำ, ตั้งครรภ์ แฝด, ครรภ์ไข่ปลาอุก(เนื้องอกของรกชนิดหนึ่ง)
          3.นโยบายที่ปฏิบัติได้จริงของสถานพยาบาล กระทรวง และประเทศ ได้แก่
          นโยบายเรื่องการฝากครรภ์ ให้ทั่วถึง และมีคุณภาพ และ มีข้อกำหนดซึ่งประกอบด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ ในเรื่องการฝากครรภ์ การดูแลภาวะฉุกเฉินในการตั้งครรภ์ การดูแลเด็กและแม่ขณะคลอด หลังคลอด
          - มีข้อตกลงระหว่างโรงพยาบาลเรื่องการส่งต่อ - มีการพัฒนาปัจจัยด้านอื่นๆ ที่มีผลต่อมารดาและทารก เช่นนโยบายการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา สังคมสิ่งแวดล้อม
          - มีการทบทวนบทเรียนมารดาที่เสียชีวิต หรือเกือบเสียชีวิต เพื่อหาวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
          สรุป การเสียชีวิตของมารดาส่วนใหญ่ป้องกันได้ หากมีนโยบาย มีการบริการทางการแพทย์ที่ดี มีบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มียาและเครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะสม ยกเว้นภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นปอดซึ่งเป็นภาวะที่ไม่อาจป้องกันได้ ทั้งยังมีอัตราการเสียชีวิตสูง หากเกิดขึ้น
          ด้วยความปรารถนาดี จากพญ.ชัญวลี ศรีสุโข (chanwalee@srisukho.com)
          โฆษกแพทยสภา
 


pageview  1205869    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved