HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 17/04/2561 ]
สถาบันโรคผิวหนังเตือน ภัยจากแสงแดด

แสงแดดมีความสำคัญในการสร้างวิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูก หากร่างกายไม่ได้รับแสงแดดอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน แต่ถ้าได้รับแสงแดดน้อยเกินไปอาจมีปัญหานอนไม่หลับหรือภาวะซึมเศร้าได้ อย่างไรก็ดีการรับแสงแดดมากเกินไปก็อาจจะเป็นอันตรายได้
          จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงกลางเดือนเมษายน 2561 หรือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า จะมีอุณหภูมิสูงสุดที่ประมาณ 36-39 องศาเซลเซียส ดังนั้นกลุ่มประชาชนที่มีผิวบอบบางและผิวแพ้ง่ายจึงต้องระมัดระวังและหลบเลี่ยงแสงแดดเป็นพิเศษ เนื่องจากหากได้รับแสงแดดเป็นเวลานานและต่อเนื่อง จะส่งผลให้ผิวไหม้จากแสงแดด (Sunburn) ผิวมีอาการแสบร้อนและคัน ซึ่งใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่า 1 สัปดาห์ พร้อมกันนี้เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดเมลานิน (Melanin) หรือมีเม็ดสีเพิ่มขึ้นอย่างไม่สม่ำเสมอ
          แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาผิวหนังจากแสงแดด ได้แก่ ผด ผื่น คัน แพ้แสงแดด ผิวไหม้ ผิวคล้ำ กระ โดยเฉพาะฝ้าเป็นปัญหาผิวหนังสำคัญที่พบบ่อยทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ฝ้าคือผื่นสีน้ำตาลที่ใบหน้า โดยเฉพาะที่บริเวณแก้ม จมูก หน้าผาก คาง ตลอดจนแขนและบริเวณที่ถูกแสงแดด โดยมักเป็นเท่ากันที่ 2 ข้างของใบหน้า พบมากในผู้หญิงวัย 30-40 ปี แต่ปัจจุบันเริ่มพบมากขึ้นในผู้ชาย สาเหตุของการเกิดฝ้ายังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ปัจจัยสำคัญที่สุดคือแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ฝ้าเป็นมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าฮอร์โมนเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ โดยเฉพาะ ผู้หญิงตั้งครรภ์หรือรับประทานยาคุมกำเนิดจะเป็นฝ้าได้ง่าย ปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนสำคัญกับการเกิดฝ้า เนื่องจากพบได้ร้อยละ 20-70 เครื่องสำอางและยาเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า การแพ้ส่วนผสมบางชนิดในเครื่องสำอาง เช่น สารให้กลิ่นหอมหรือสีอาจทำให้เกิดฝ้าได้ ทั้งนี้การดูแลผิวหนังเพื่อป้องกันภัยจากแสงแดด ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด หากจำเป็นต้องป้องกันโดยกางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาว และทายากันแดดสม่ำเสมอก่อนออกจากบ้าน
          ในขณะที่ ผศ.พญ.พัดชา พงษ์เจริญ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับแสงแดดที่อาจจะรุนแรงในช่วงหน้าร้อนนี้ รวมถึงการทำกิจกรรมกลางแจ้งอื่นๆ ได้อย่างมั่นใจ จึงควรเลือกครีมกันแดดที่เหมาะสม และทาครีมกันแดดให้ครบขั้นตอน ได้แก่
          ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ขั้นต่ำที่ 50 (SPF 50) ค่าเอสพีเอฟ (Sun Protection Factor) จะเป็นข้อบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตบี (UVB) ที่ส่งผลให้ผิวไหม้จากแดด หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นเกิดเป็นตุ่มน้ำใสๆ บริเวณผิว ซึ่งจะต้องทำการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น โดยควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 50 ขึ้นไป ซึ่งมีส่วนช่วยดูดซับรังสีได้ถึง 98% ขณะที่พนักงานออฟฟิศที่ทำงานอยู่ในห้องแอร์เป็นส่วนใหญ่ สามารถเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟขั้นต่ำที่ 30 โดยตัวเนื้อครีมจะช่วยดูดซับรังสีได้ประมาณ 96.7%
          ทาครีมกันแดดที่มีค่า PA ระดับกลาง (PA+++) ค่าพีเอ (Protection grade of UVA) เป็นตัวบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตเอ (UVA) ซึ่งจะส่งผลให้ผิวแก่กว่าวัย ผิวเหี่ยวย่น รวมถึงมะเร็งผิวหนัง ดังนั้นควรเลือกใช้ครีมที่มีค่าพีเอระดับกลาง (PA+++) หรือระดับสูงขึ้นไป เพื่อเป็นการป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตบีในเบื้องต้น และเหมาะกับสภาพอากาศของไทยที่มีอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง
          ทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมงกรณีทำกิจกรรมกลางแจ้ง ครีมกันแดดโดยส่วนใหญ่จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันแดดเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นในกรณีที่จะต้องทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานานจึงควรทาครีมกันแดดซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันผิวจากแสงแดด รวมถึงจุดด่างดำจากฝ้า กระแดด หรือการสะสมของเม็ดสีบนผิว ซึ่งในระยะยาวอาจจะก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้
          ทาซ้ำทุกๆ 20 นาที กรณีต้องทำกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำ ครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติกันน้ำ หรือ Water Resistant จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันแดด และคุณสมบัติป้องกันเนื้อครีมถูกชะล้างไปกับน้ำได้เพียง 20 นาทีเท่านั้น ทั้งจากการที่ทำกิจกรรมแล้วมีเหงื่อออก การดำน้ำ และการเล่นน้ำสงกรานต์ เป็นต้น.


pageview  1205138    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved