HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 16/02/2561 ]
ฝุ่นยังท่วม6พื้นที่เตือน3กลุ่มเสี่ยง


          ชี้เผากระดาษจุดประทัดเพิ่มฝุ่น
          สถานการณ์ฝุ่นละอองใน กทม. ยังไม่กระเตื้อง พบ 6 พื้นที่ค่าเกินมาตรฐาน ชี้น่าจะมาจากเผากระดาษ จุดประทัดวันตรุษจีน
          กรุงเทพฯ * สถานการณ์ฝุ่นละอองคลุม กทม.ยังไม่กระเตื้อง ตรวจพบ 6 พื้นที่มีค่าเกินมาตรฐาน ตั้งแต่บางนา วังทองหลาง ถนนพระราม 4 ถนนอินทรพิทักษ์ ถนนลาดพร้าว และถนนพญาไท ผอ.กรมควบคุมมลพิษระบุน่าจะมาจากการเผากระดาษ จุดประทัดรับตรุษจีน เตือนตำรวจจราจร วินมอเตอร์ไซค์และคนกวาดถนนหมั่นเช็กสุขภาพ
          กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถาน การณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ณ เวลา 08.00 น. ดังนี้ 1.ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 51-84 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินเกณฑ์มาตรฐาน 50 มคก./ลบ.ม. 6 สถานี คือที่บริเวณริมถนนพระราม 4 ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนลาดพร้าว ริมถนนพญาไท เขตบางนา และเขตวังทองหลาง ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
          2.กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่ กทม. อากาศเย็น อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ความชื้น 91% ลมสงบ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศเพิ่มขึ้น
          3.ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่อยู่อาศัย หรือต้องเข้าในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หากจำเป็นต้องออกจากอาคารควรใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์
          ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ เช่น การใช้ยานพาหนะ การเผา และโดยเฉพาะการก่อสร้าง ให้มีมาตรการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง รวมทั้งรถบรรทุกขนส่งวัสดุก่อสร้างให้มีการปิดคลุมให้มิดชิด เพื่อที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองลงได้
          สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. เมื่อเวลา 15.00 น. ตรวจวัดได้ระหว่าง 56-78 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน 6 พื้นที่ ได้แก่ เขตบางนา เขตวังทองหลาง ริมถนนพระราม 4 ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนลาดพร้าว และริมถนนพญาไท (มาตรฐานต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
          นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มสูงทุกพื้นที่ใน 6 สถานีดังกล่าว ทั้งนี้ คาดว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดหมอกควันเพิ่มขึ้น แม้สภาพอากาศอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น มาจากการเผากระดาษเงินกระดาษทอง และจุดประทัด ควันธูปในเทศกาลตรุษจีน ที่วันนี้ตรงกับวันไหว้ และมีประชาชนออกมาเผากระดาษกระดาษเงินทองตามพื้นที่โล่งแจ้ง หรือถนนหน้าบ้าน จึงเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถประเมินว่าได้ทั้งหมด แต่คาดว่าในวันที่ 16 ก.พ. สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 น่าจะดีขึ้น ซึ่งนอกจากอุณหภูมิจะอุ่นขึ้นแล้ว ยังต้องอาศัยลมเป็นตัวแปรด้วย และถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่า ฝุ่นควันที่ลอยในอากาศวันนี้ ส่วนนี้มาจากการเผาไหม้ในเทศกาล
          "ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกหรือตกใจกับสถานการณ์ แต่ว่าหากออกจากบ้านและมีภารกิจเดินทางไปในที่เสี่ยงที่มีค่าฝุ่นละอองสูง ก็ควรสวมหน้ากาอนามัย N95 หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำ ปิดจมูกเพื่อกรองอากาศ และทางกรมควบคุมมลพิษได้มีการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจากค่าฝุ่นละออง PM 2.5" นางสุณีกล่าว
          กรณีนายธารา บัวคำศรี ผอ.ประจำประเทศ ไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ที่บางนาตั้งแต่เมื่อคืนจนถึงเช้าวันพฤหัสบดี อยู่ที่ 61.87 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อนำเอาความเข้มข้นฝุ่นพิษดังกล่าว ไปหาดัชนีคุณภาพอากาศตามวิธีการของสหรัฐอเมริกา ผลคืออยู่ในระดับสีแดง แสดงว่าอากาศมีอันตรายต่อสุขภาพและกำลังเป็นวิกฤติ ถ้ารัฐไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนจะลงมือติดตามตรวจสอบและรายงานคุณภาพอากาศกันเองนั้น นางสุณีชี้แจงว่า การกำหนดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของแต่ละประเทศที่ใช้แถบสี จะสัมพันธ์กับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศแต่ละประเทศกำหนด ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลพื้นฐาน การพัฒนาประเทศ สภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งค่ามาตรฐานระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกายังมีความแตกต่างกัน โดยไทยกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เฉลี่ย 24 ชม. ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชม.ของสหรัฐไม่เกิน 35 ประกอบกับแถบสีที่ใช้กำหนดคุณภาพอากาศของประเทศไทยและของสหรัฐแตกต่างกัน ดังนั้นไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้
          ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองใน กทม.ขณะนี้ว่า อาชีพที่น่าห่วงคือ วินมอเตอร์ไซค์ อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าผลกระทบจากฝุ่นละอองไม่ได้เกิดขึ้นในทันที แต่เป็นระยะยาว ซึ่งต้องมีการตรวจและติดตามอย่างสม่ำเสมอ โดยอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการเข้ามาตรวจสุขภาพของตนเองด้วย แต่ความเป็นจริงค่อนข้างลำบาก เพราะหลายคนต้องทำงาน และจะไปพบแพทย์ก็ต่อเมื่อมีอาการก่อน เช่น ปวดหัว ไอ หรือมีอาการหายใจติดขัด เพราะหากไม่มีอาการก็จะไม่ไปตรวจ ขณะที่สถานพยาบาลบางแห่งก็ยังไม่มีเครื่องมือในการตรวจเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ยกเว้นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ กรมจึงมอบให้ทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสำนักโรคติดต่อทั่วไป ทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิด "คลินิกผู้ใหญ่สุขภาพดี" ขึ้น และเตรียมจะเสนอเพื่อผลักดันให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อให้สิทธิในการตรวจหากลุ่มโรคที่เกี่ยวกับฝุ่นละออง เบื้องต้นคาดว่าปีนี้คลินิกผู้ใหญ่สุขภาพดีน่าจะเป็นรูปธรรม และมีคลินิกนำร่องในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการป้องกันโรคกลุ่มผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะอย่างแท็กซี่แล้ว ซึ่งในส่วนวินมอเตอร์ไซค์ก็จะมีการดำเนินการเช่นกัน
          พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน 2.5 ไมครอนนั้น ต้องระวังเป็นพิเศษใน 3 กลุ่มอาชีพ คือ ตำรวจจราจร ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือวินมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มอาชีพทำความสะอาดถนนหรือกวาดถนน ยิ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่มีฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน แม้จะไม่ได้อยู่นานเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน แต่อยู่เป็นประจำแทบทุกวันก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน เนื่องจากไม่มีทางทราบว่าจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพเมื่อไร อย่างไร นอกจากจะป่วยและเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ส่วนการป้องกัน แม้จะแนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัยชนิด N95 แต่ปัญหาคือ หน้ากากชนิดนี้ค่อนข้างใหญ่และอึดอัด หลายคนอาจไม่สะดวก แต่การใส่หน้ากากคาร์บอนก็พอช่วยได้.


pageview  1204946    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved