HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 20/12/2560 ]
รับมือสังคมผู้สูงอายุต้องเอาใจใส่วัยเกษียณ

 ในอีก 3-4 ปีที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยที่อายุ 60 ปีขึ้นไปสูงขึ้นมากกว่า 28% หรือที่เรียกกันว่ายุค "ซูเปอร์เอจจิ้ง" หรือสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบกับการเกิดใหม่ในปัจจุบันมีแนวโน้มลดน้อยลง จึงทำให้อนาคตต่อจากนี้จะมีคนแก่มากกว่าเด็ก ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนวัยหลัก 6 อัพต้องพึ่งพาตัวเองมากยิ่งขึ้น ทว่าประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนควรช่วยกันรับมือกับสังคมผู้สูงอายุร่วมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนลูกหลานที่ไม่ควรทอดทิ้งปู่ย่าตายายให้อยู่เพียงลำพัง
          ในงานเสวนา "ประชุมวิชาการ เวทีระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพบริการชุมชน 2560" โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) และเครือข่ายสุขภาพ บรรยากาศตั้งโต๊ะเสวนา ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาร่วมกันสะท้อนปัญหาและทางออกในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุไว้น่าสนใจ
          เริ่มกันที่ พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า วิกฤติเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุในปี 2568 มีด้วยกันหลายเรื่อง ที่นอกจากคนแก่จะมากกว่าเด็กเกิดใหม่แล้ว หนึ่งปัญหาสำคัญคือผู้สูงอายุอยู่ลำพังมากขึ้น โดยเดิมที่ในช่วงปี 2523-2557 โดยเฉลี่ยคนไทยจะมีลูกอยู่ที่ประมาณ 5 คน แต่ปัจจุบันนั้นเหลือเพียง 3 คน จึงทำให้ศักยภาพในการดูแลพ่อแม่ลดน้อยลง และจากข้อมูลเรื่องการอยู่อาศัยของครอบครัวไทยระหว่างปี 2545-2557 ยังพบอีกว่าผู้สูงอายุอยู่ลำพังมากขึ้น
          "ผลกระทบจากการที่ผู้สูงอายุอยู่ลำพัง นอกจากขาดรายได้จากลูกหลาน ทำให้คนอายุต่ำกว่า 70 ปียังต้องทำงานเลี้ยงชีพนั้น จึงส่งผลให้คนกลุ่มนี้ละเลยการดูแลสุขภาพ ทำให้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคสมองเสื่อม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 6 แสนคน ที่ในอีก 20 ปีจะพุ่งสูงเป็น 1 ล้าน 3 แสนคน หรือแม้แต่การได้รับยาเกินขนาด ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย เสี่ยงต่อการหกล้มได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งการที่ต้องดูแลเลี้ยงชีพเพียงลำพังจะทำให้ผู้สูงอายุไม่ออกกำลังกาย แต่หันไปดื่มสิ่งเสพติดที่ทำร้ายสุขภาพ เช่น การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ซึ่งทำให้ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ปัญหาสุขภาพคุกคามคนชราที่อยู่โดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการปรับปรุงเรื่องที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับผู้สูงวัย ทั้งห้องน้ำและห้องนอน ตลอดจนประเด็นปัญหาสุขภาพที่เกริ่นมานั้น ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและคนในครอบครัว รวมถึงชุมชนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ต้องร่วมมือกันทำให้คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุดีขึ้นค่ะ"
          ด้าน นพ.อุทัย จินดาพล ผู้แทนคลังปัญญาผู้สูงอายุ จ.พังงา ที่ประสบความสำเร็จในการดูแลผู้สูงอายุได้ 100% โดยเรื่องของสภาพแวดล้อมที่มีทะเลและภูเขาล้อมรอบ ไม่ได้เป็นปัญหาในการเข้าไปดูแลคนชราที่ป่วยติดเตียง เนื่องจากใช้ความร่วมมือที่แข็งขันของคนในพื้นที่หลากหลายกลุ่ม เช่น สาธารณสุขจังหวัด, อบจ., อบต., ครูอาจารย์ ฯลฯ เข้ามาพัฒนาสุขภาพผู้สูงวัยครบ 4 มิติ กาย, จิต, สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันทำให้ผู้สูงวัยเพศหญิงมีอายุยืนยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 88 ปี และผู้ชายอยู่ที่ 78 ขึ้นไป
          "คนพังงาร้อยละ 80 เสียสละตัวเองมาทำงานเพื่อสังคม ไม่ว่าจะผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ตลอดจนครูอาจารย์ที่ต้องมาประชุมร่วมกันทุก 2 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาเราได้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวมาร่วมกันอบรม อาทิ การฝึกอาชีพให้คนชรามีรายได้ เช่น งานฝีมือต่างๆ รวมถึงการทำกิจกรรมอย่างการนั่งสมาธิ รวมถึงการออกกำลังกาย โดยเราจัดให้มีชมรมสุขภาพหลายๆ ด้านตลอด 365 วัน เช่น ชมรมปั่นจักรยาน ชมรมรำไท้เก๊กทุกเช้า หรือการที่พระสร้างลานเปตองให้ผู้สูงอายุได้เล่น ตลอดจนใช้วัดเป็นศูนย์อบรมเรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมการให้ผู้สูงอายุเป็นที่พึ่งหรือคอยอบรมเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เพื่อแก้ปัญหาเด็กติดเกม และกินขนมขบเคี้ยวซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน ทั้งนี้ นอกจากได้ร่วมมือกันดูแลสุขภาพผู้สูงวัยแล้ว ยังทำให้เด็กและผู้ใหญ่อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลครับ"
          นอกจากการจ้างงานผู้สูงวัยแล้ว การเปลี่ยนทัศนคติว่าคนวัยเกษียณเป็นผู้มีประสบการณ์ ดังนั้นการประกอบอาชีพสุจริตไม่ใช่เรื่องน่าอาย เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังไปยังลูกหลานยุคใหม่ มุมมองจาก วรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า "นอกจากการจ้างแรงงานผู้สูงอายุให้มากกว่าร้อยละ 1 ซึ่งปัจจุบันเราเปิดโครงการนี้เป็นปีที่ 2 โดยมีการจ้างงานผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ในการขับเคลื่อนภาคเอกชน โดยการเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมให้คนกลุ่มนี้ อีกสิ่งหนึ่งผมคิดว่าลูกหลานยุคใหม่ที่ดูแลคุณพ่อคุณแม่วัยเกษียณ ซึ่งพ่อแม่บางรายอาจต้องการมีรายได้ หรือต้องการมีสังคม โดยการไปขับแท็กซี่ ขณะที่ลูกหลานไม่ต้องการให้ท่านไป เพราะกลัวคนว่าปล่อยให้พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน ตรงนี้เป็นทัศนคติที่ควรปรับเปลี่ยนครับ ยกตัวอย่างผู้สูงวัยที่ประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่น ที่ยังมีการจ้างงานหรือพึ่งพาแรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี"
          คงจะดีไม่น้อยหากแผนพัฒนาจังหวัดอุบล ราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ มีประชากรราว 2 ล้านคน สามารถที่จะทำควบคู่ไปกับการพัฒนายุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุ เธียรชัย พุทธรังสี รองผู้ว่าราชการ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า "ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า การพาผู้ใหญ่หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่อยู่ชุมชน กระทั่งคนชราที่เป็นตัวอย่างของคนในชุมชน นอกจากดูแลเรื่องถนนหนทางและน้ำประปาแล้ว นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การดูแลผู้สูงวัยได้ดี นอกจากนี้ยังเป็นการเข้าไปให้กำลังใจลูกหลานหรือผู้ที่ดูแลพ่อแม่อีกด้วย เนื่องจากเป็นผู้ที่ต้องอยู่กับคนสูงอายุตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งอาจต้องปะทะอารมณ์กันตลอดทั้งวัน"
          ปิดท้ายกันที่ ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่า ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ หรือ "ศพอส." ระดับท้องถิ่น เป็นหน่วยงานสำคัญภายใต้กรมกิจการผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันมีอยู่ 878 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมของผู้สูงวัย ที่ช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตคนชราให้ดียิ่งขึ้น
          "หน้าที่ของศูนย์ดังกล่าวจะดึงผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันให้ความรู้และสร้างความบันเทิงให้คนวัยเกษียณ เช่น ร้องรำทำเพลง, พาผู้สูงอายุไปทัศนศึกษา, การออกกำลังกาย, การฝึกอาชีพ กระทั่งการลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ที่สำคัญนอกจากกิจกรรมที่กล่าว การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านยังทำให้เรามีข้อมูลและปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับคนสูงวัย ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนางานเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ที่สำคัญในปีต่อไปนั้น เราพยายามผลักดันให้มีศูนย์ดังกล่าวเพิ่มอีก 4 แห่ง และในอนาคตก็จะเพิ่มให้เป็น 1 พันแห่งทั่วประเทศ ที่กล่าวมาเป็นภาพรวมการทำงานของกรมกิจการผู้สูงอายุค่ะ".


pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved