HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 15/12/2560 ]
ปลุกคนรุ่นใหม่โชว์ฝีมือสร้างนวัตกรรมสุขภาพ

เพราะสุขภาพที่ดีเป็นต้นทุนสำคัญในการดำเนินชีวิต การป้องกันและดูแลสุขภาพให้ปราศจากโรคจึงดีกว่าการเข้ารับการรักษาเมื่อสุขภาพเสื่อมโทรม โดยเฉพาะการลดพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงทางสุขภาพ เป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
          การสร้างงานนวัตกรรมเพื่อสุขภาพช่วยคนไทยห่างไกลโรค ถือเป็นสิ่งสำคัญและช่วยรับมือต่อโรคภัยที่เกิดขึ้น เหตุนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงานที่ส่งเสริมคนไทยมีสุขภาวะที่ดี ได้จัดโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ (THAIHEALTH INNO Awards) เพื่อเปิดโอกาสให้กับเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษาในระดับ ปวช. ได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริม สุขภาพในรูปแบบแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ หรือส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดีในด้านสุขภาพกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม
          ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม สสส. กล่าวว่า สสส.เชื่อในพลังคนรุ่นใหม่และต้องการเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ จากเด็กและเยาวชนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้จัดโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ โดยการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย และอาชีวศึกษา ปวช. เพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งในแต่ละระดับที่เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย จะได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการกับบุคคลชั้นนำของประเทศในด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และได้รับทุนสนับสนุนทีมละ 10,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาชิ้นงานให้เกิดขึ้นจริง โดยเปิดรับสมัครโครงการตั้งแต่วันนี้จนถึง 28 ธันวาคม 2560
          สำหรับตัวอย่างนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ สสส.เคยสนับสนุน โชว์ให้ทั่วโลกเห็นฝีมือคนไทย แถมเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์คนวงกว้าง คือ "FeelFitฎ" เครื่องวัดและติดตามการมีกิจกรรมทางกายที่มาก กว่าการนับก้าว แต่ยังประมวลผลถึงพฤติกรรมการเนือยนิ่งในแต่ละวัน นับเป็นเครื่องวัดและติดตามการมีกิจกรรมทางกายเครื่องแรกที่เกิดจากความร่วมมือเพื่อพัฒนาเครื่องวัดระดับการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เพื่อตรวจวัดค่าการเผาผลาญพลังงาน ระยะเวลาในการมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
          เครื่อง FeelFit แบ่งระดับการมีกิจกรรมทางกาย 3 ระดับ ตามค่าอัตราการสังเคราะห์พลังงานในขณะทำกิจกรรม เมื่อเทียบกับอัตราการสังเคราะห์พลังงานขณะพัก คือ ระดับเบา ระดับปานกลาง และระดับหนัก โดยเครื่องจะวัดอัตราการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อคำนวณหาอัตราการใช้พลังงานจากการใช้ออกซิเจนเทียบกับน้ำหนักตัว โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ ระดับเนือยนิ่ง (Sedentary) เช่น กิจกรรมอ่านหนังสือ การนั่งพักผ่อน ระดับเบา เช่น การเดิน ระดับปานกลาง เช่น การเต้นแอโรบิก การวิ่งจ๊อกกิ้ง การแกว่งแขน และระดับหนัก เช่น การเล่นกีฬาประเภทต่าง ๆ เช่น ฟุตบอล เทนนิส แบดมินตัน
          ตัวอย่างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเสี่ยงทางสุขภาพยังมี กระชังว่ายน้ำ แหล่งฝึกทักษะการว่ายน้ำรอดชีวิตสำหรับเด็ก เพราะในเด็กกลุ่มอายุน้อยกว่า 10 ปี สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุการจมน้ำ โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม นำมาสู่การสร้างสระว่ายน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้เด็กในชุมชนเข้าถึงสระว่ายน้ำและใช้เป็นแหล่งฝึกทักษะการว่ายน้ำอย่างปลอดภัย ซึ่งใช้หลักการเดียวกับกระชังเลี้ยงปลา โดยใช้ไม้ไผ่เพื่อจำกัดพื้นที่ทั้งกว้าง ยาวและลึก ให้เป็นสระว่ายน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เด็กๆ มีพื้นที่ฝึกว่ายน้ำเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทำสระว่ายน้ำชั่วคราวบนบก เป็นสระว่ายน้ำเคลื่อนที่ที่ทำจากท่อเหล็กโปร่งปูด้วยผ้าใบหนาเพื่อรองรับน้ำปริมาณมาก สระว่ายน้ำเคลื่อนที่นี้สามารถถอดแล้วนำไปประกอบใหม่ได้เรื่อยๆ
          ปิดท้ายด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในชุมชนอย่างกิจการร้านน้ำชาเพื่อชุมชน กิจ กรรมที่สร้างการเรียนรู้ภายใต้วิถีมุสลิมที่ถูกต้องให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อชักชวนเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงต่อปัญหายาเสพติดเข้ามาทำกิจกรรมกับมัสยิด โดยเป็นกิจ กรรมฝึกทักษะอาชีพและการทำอาหารพื้นบ้าน ดำเนินการโดยคณะกรรมการมัสยิดและชักชวนให้เด็กและเยาวชนที่เข้ามาเรียนศาสนา เข้ามาร่วมขายน้ำชา
          โดยแบ่งเป็นรุ่น 1 มี 10 คน เป็นแกนนำหลัก และรุ่น 2 อีก 10 คน เป็นแกนนำสำรอง ทุกคนช่วยงานตามที่ทำได้ เช่น ขายน้ำชา ล้างจาน เก็บเงิน และทำบัญชีตามความสามารถ หลังจากนั้นเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะชวนคนอื่นๆ ที่เป็น กลุ่มเสี่ยงและไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ร้านน้ำชาที่เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมกิจกรรมกับมัสยิด ด้วยกำไรจากการขายและการบริจาค แกนนำจึงจัดตั้งเป็น "กองทุนน้ำชา" เพื่อเป็นกองทุนเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนในชุมชน
          เยาวชนและสถานศึกษาที่สนใจเข้าร่วมการประกวดรางวัลนวัตกรรมสร้างเสริม สุขภาพ สามารถดูรายละเอียดโครงการได้ที่ www.thaihealth.or.th/inno.


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved