HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 08/09/2560 ]
สธ.ประกาศใช้พ.ร.บ.นมผงสำหรับทารกและเด็กเล็ก มีผลบังคับใช้ 8 กันยายน 60 นี้

 สธ.ประกาศใช้พ.ร.บ.นมผง กฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ใช้คุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มทารกและเด็กเล็ก เพื่อเด็กไทยได้กินนมแม่ พร้อมขับเคลื่อน 3 มาตรการ ทั้งส่งเสริมสนับสนุน และปกป้อง เพิ่มโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า
          เมื่อเร็วๆ นี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ  นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าว "พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560" ว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้ออกพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560  หรือ พ.ร.บ. นมผง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยายน 2560 นี้  เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ประกาศใช้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มทารกและเด็กเล็กโดยควบคุมการส่งเสริมการตลาด ผ่านสื่อโฆษณาและวิธีการลดแลกแจกแถม ของผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือผลิตภัณฑ์นมผงให้เป็นไปอย่างเหมาะสม  เพื่อให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ บรรลุเป้าหมายเด็กทั่วโลกอย่างน้อยร้อยละ 50 ได้รับนมแม่อย่างเหมาะสมตามหลักที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ หรือ "1-6-2" คือกินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น
          ด้านนพ.วชิระเพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ อ้างอิงจากหลักเกณฑ์สากลว่า ด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) หรือโค้ดนม ซึ่งเป็นข้อแนะนำสากลที่ตกลงกันระหว่างนานาประเทศในเวทีสมัชชาอนามัยโลก เมื่อปี 2524 ซึ่งไทยได้นำโค้ดนมมาใช้โดยขอความร่วมมือแบบสมัครใจจากภาคธุรกิจ เพื่อควบคุมวิธีการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กตั้งแต่ปี พ.ศ.2527  และปรับปรุงเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2551 แต่ยังพบการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดอย่างไม่เหมาะสมอยู่ จึงผลักดันให้มี พ.ร.บ. นมผงฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพยิ่งขั้น ขณะนี้กรมอนามัยได้จัดระบบและมอบหมายบุคลากรให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการละเมิดและฝ่าฝืนกฎหมายและสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลการสำรวจในปี 2558 พบว่าเด็กไทยอายุต่ำกว่า 6 เดือนร้อยละ 23 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวและแม่ที่สามารถให้นมลูกได้ถึง 2 ปี มีเพียงร้อยละ 16
          สำหรับการขับเคลื่อนเพื่อให้เด็กไทยได้กินนมแม่อย่างเหมาะสม มีมาตรการสำคัญ 3 ด้านได้แก่ 1.การส่งเสริม กระตุ้นช่วยเหลือให้แม่มีความพร้อมและตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2.การสนับสนุน โดยจัดบริการคลินิกนมแม่ในโรงพยาบาล การเยี่ยมบ้านหลังคลอด สนับสนุนการจัดมุมนมแม่ในสถานที่ทำงาน เป็นต้น และ3.การปกป้อง โดยคุ้มครองแม่และครอบครัวจากการได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง หรือ ชวนเชื่อให้ใช้อาหารอื่นทดแทน  ในช่วงนี้ยังควรได้รับนมแม่ ที่สำคัญคือการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กให้เป็นไปอย่างเหมาะสม โดยกฎหมายฉบับนี้จะช่วยเพิ่มระดับการปกป้องได้มากขึ้น
          ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประเมินว่า หากแม่ได้รับการดูแลทั้งการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้อง จะมีโอกาสให้นมแม่สำเร็จได้เพิ่มขึ้น 2.5 เท่า
          นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันการโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กยังไม่มีการห้าม อาจมีบางบริษัทฯ ที่มีการเชื่อมโยงทำให้เข้าใจว่านมผงสำหรับทารกเป็นอาหารสำหรับทารกที่ส่งผลกระทบกับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ จะมีการพิจารณาว่าเป็นการโฆษณาที่เจตนาจะละเมิดกฎหมายนี้หรือไม่  ส่วนการกำหนดฉลาดของอาหารสำหรับเด็กเล็กและทารกก็ต้องมีประกาศออกมาให้เชื่อมโยงกันทั้งระบบ ซึ่ง อย.จะทำหน้าที่พิจารณาเรื่องคุณสมบัติและส่วนประกอบของอาหารเป็นไปตามพ.ร.บ.อาหาร ว่ามีการโฆษณาสารอาหารเกินจริงหรือไม่ ส่วนฉลากที่คล้ายกันจนแยกไม่ออกนั้น ตามพ.ร.บ.จะให้เวลาในการปรับเปลี่ยน 1ปี หากเกินจะมีโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท
          ดร.แดเนียล เอ. คอร์แทสซ์ ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย  กล่าวว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับทารกและประโยชน์ของมันนั้นจะมีต่อเนื่องไปตลอดชีวิต พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กซึ่งจะบังคับใช้ในวันที่ 8 กันยายนนี้ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่า ด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524  และสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทยในการคุ้มครองสุขภาพและพัฒนาการของเด็กไทยประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมกับอีก 135 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายในการปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่


pageview  1204957    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved