HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 28/06/2560 ]
ไข้เลือดออกหน้าฝนฉีควัคซีนช่วยป้องกัน

 เป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องเตือนกันในช่วงหน้าฝน สำหรับ "ไข้เลือดออก" ซึ่งผลสำรวจที่ผ่านมาพบว่าบ้านเราสูญเงินไปกับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคไข้เลือดออกสูงมากถึง 290 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 จากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองลงมาจากประเทศอินโดนีเซีย เพื่อลดอุบัติการณ์เกิดโรคไข้เลือดออก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยและ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันรณรงค์ต้านภัยไข้เลือดออก ภายใต้แนวคิด "United Fight Against Dengue" เพื่อผลักดันให้เกิดการป้องกันไข้เลือดออกด้วยแนวทางที่ถูกต้อง หวังปลดล็อกคนไทยจากการป่วย และเสียชีวิต ตามเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ร่วมกับชาติอื่นๆ ในอาเซียน คือ ลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 50 และลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคร้อยละ 25 ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2563
          เริ่มจาก ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอัตราผู้ติดเชื้ออยู่ในช่วงอายุ 10-30 ปีเพิ่มมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า โรคนี้ผู้ใหญ่เป็นกันมากขึ้น โดยเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งใน 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีการดำรงของโรคไม่ต่างจากเด็ก แต่ความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้นอาจมีปัจจัยมาจากการติดเชื้อหลายครั้งมาก่อนแต่อาจไม่แสดงอาการ คนไข้ที่เป็นผู้ใหญ่เองมักไม่รีบไปพบแพทย์ หายาทานเอง หรือแพทย์วินิจฉัยล่าช้าด้วยความเคยชินว่าเป็นโรคของเด็ก รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วย หรือโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น ดื่มเหล้าจนเป็นเหตุที่อาจทำให้เลือดออกมากที่ไต จนเสียชีวิตได้เมื่อเป็นไข้เลือดออก
          แม้อัตราการตายในประเทศไทยน้อยกว่าที่อื่น ซึ่งนับว่าเป็นเพราะประเทศไทยมีการวางแนวทางดูแลรักษาและให้การดูแลผู้ป่วยได้ดี แต่ปัญหาการติดเชื้อนั้นใหญ่กว่าตัวเลขที่สะท้อนมาก ในปีหนึ่งประเทศไทยมีคนเป็นไข้เดงกีและไข้เลือดออกราว 40,000-50,000 คน แต่ในความเป็นจริงพบว่าการติดเชื้อในเด็กและผู้ใหญ่บางรายไม่มีอาการ ดังนั้นในปีหนึ่งๆ อาจมีคนติดเชื้อราว 200,000 คน และในช่วงปีที่มีการระบาดซึ่งมีรายงานมากกว่า 100,000 หรือ 200,000 คน แต่ความจริงแล้วอาจมีคนติดเชื้อนี้ใกล้หลักล้าน และเราลืมไปว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการก็ถือเป็นกลุ่มที่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นด้วย หากคนเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน การติดเชื้อและการแพร่ระบาดย่อมลดลงได้
          นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อน การเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง การเดินทางของประชากร ล้วนมีส่วนทำให้การเกิดโรคมากขึ้น เพราะยุงมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง การปราบยุงและการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ถือว่าเป็นการป้องกันที่ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสารเคมีของยาที่พ่นจำเป็นต้องสัมผัสตัวยุง ยุงที่ซ่อนอยู่ในบ้านยังคงมีอยู่"
          ขณที่ รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ จากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "อัตราการตายจากโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยถือว่าต่ำที่สุดในย่านอาเซียนจากการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ยังคงเป็นโรคที่น่ากังวล และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจาก "ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เฉียบพลัน" ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกอาจรุนแรงกระทั่งเสียชีวิตได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน บางรายมีแต่อาการไข้ เพลียในสองวันแรก วันที่ 3-4 อาการเริ่มทรุดหนัก วันที่ 5-6 อาจจะรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตได้
          ปัจจุบันแม้จะมีโครงการวิจัยยาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกีขึ้นมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในด้านยารักษาจำเพาะ สิ่งที่จำเป็นต้องทำในวันนี้คือการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงหรือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ที่ได้รับการจดทะเบียนใน 16 ประเทศแล้ว รวมทั้งในประเทศไทยด้วย โดยมีประสิทธิภาพป้องกันกว่าร้อยละ 65.6 ซึ่งหมายความว่า ในจำนวนคน 100 คน จะช่วยป้องกันโรคได้ 65 คน ส่วนที่อีก 35 คนยังอาจมีการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลงได้กว่าร้อยละ 90"
          ปิดท้ายกันที่ ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งเอเชีย เปิดเผยว่า "ทวีปเอเชียมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 70 เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ ลดอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 50 และลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคร้อยละ 25 ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 3 ปีเท่านั้น ประเทศไทยควรพิจารณานำข้อควรปฏิบัติที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมาปฏิบัติให้ครบทั้ง 5 ประการ ซึ่งได้แก่ 1.การวินิจฉัยโรคให้เร็วและทำการรักษาให้เร็วที่สุด ซึ่งประเทศไทยนับว่าทำได้ดี 2.จัดการระบบการเฝ้าระวังไวรัสไข้เลือด ออก ซึ่งมีแค่ 4 สายพันธุ์ 3.ทุกหน่วยงานต้องทำ การควบคุมยุงที่บ้านและชุมชนของตนเอง 4.ถ้ามีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติ โดยเฉพาะในประเทศที่มีโรคไข้เลือดออกระบาดมาก ควรนำมาใช้ป้องกันโรค และ 5.ต้องมีการเก็บข้อมูลและทำวิจัยต่อไปอีก เพื่อให้ทุกอย่างมีการพัฒนาต่อไป".


pageview  1205135    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved