HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 02/05/2560 ]
แนะวัยแรงงานยืดเหยียดพักตาป้องกันออฟฟิศซินโดรม

 สาธารณสุข * คร.ห่วงสุขภาพคนทำงานออฟฟิศ แนะยืดเหยียดกล้ามเนื้อและพักสายตาบ่อยๆ ลดความเมื่อยล้าของร่างกาย ป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรม
          โดย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า คร.มีความห่วงใยสุขภาพคนทำงานออฟฟิศ มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน และสร้างความตระหนักเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมที่มักเกิดกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ อวัยวะส่วนต่างๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อม และไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ ทั้งนี้ เมื่อก่อนอาการออฟฟิศซินโดรมมักจะพบในกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 40 ปี ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 20 กว่าปี อาจเป็นเพราะวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยน เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น  โดยในกลุ่มที่เล่นโซเชียลผ่านโทรศัพท์มือถือนานๆ ส่วนใหญ่จะพบการอักเสบของข้อมือ ในระยะยาวอาจเกิดอาการนิ้วล็อก เหยียดให้ตรงไม่ได้ และยังพบปัญหาทางด้านสายตาด้วย
          จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี 2559 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 20.2 ล้านคน เป็นกลุ่มวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) ที่ใช้คอมพิวเตอร์จำนวน 14.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71.2 และจากผลสำรวจพนักงานที่ทำงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง จำนวน 400 คน พบว่าร้อยละ 60 มีอาการเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยอาการที่พบได้บ่อยคือ 1.ปวดหลังเรื้อรัง 2.ไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง และ 3.มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก
          นพ.เจษฎากล่าวอีกว่า ขอแนะนำวิธีป้องกันและปรับสมดุลคนทำงานออฟฟิศพิชิต 2 ม. คือเมื่อยตัว และเมื่อยตา 1.เมื่อยตัว ป้องกันได้โดยการนั่งทำงานด้วยท่าทางการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม ของที่ใช้บ่อยให้วางไว้ใกล้ตัว จัดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมแก่ผู้ใช้งาน โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์และเก้าอี้ที่นั่ง ควรปรับให้เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคน ควรหยุดพักเป็นระยะระหว่างทำงาน หากิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ลดความปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้เป็นอย่างดี 2.เมื่อย ตา คือจัดตำแหน่งการทำงานให้เหมาะสม พร้อมทั้งจัดให้มีแสงสว่างที่เพียงพอ ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป ในระหว่างทำงานให้กะพริบตาบ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง หรือให้พักหลับตาประมาณ 3-5 วินาทีบ่อยๆ เพื่อช่วยกระตุ้นต่อมน้ำตาให้ไหลออกมา ในการทำงานกับคอมพิวเตอร์ทุก 1-2 ชั่วโมง ควรมีการพักสายตา 5-10 นาที โดยการมองไปไกลๆ และหากมีอาการเคืองตา ควรลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสาย อย่าฝืนทำงานต่อ
          "เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ในโอกาสนี้ขอสนับสนุนให้คนทำงานออฟฟิศและผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพของตัวเอง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของสุขภาพ ให้ทุกคนเป็น Smart Office Workers เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเรื่อง Safety Thailand ซึ่งมุ่งเน้นการลดอุบัติเหตุและลดโรคจากการทำงาน นอกจากนี้ การใช้สื่อโซเชียลของวัยรุ่นที่ชอบเล่นเวลาดับไฟในที่นอน เรื่องนี้เป็นเรื่องต้องห้าม เพราะการใช้หมอนหนุนขึ้นสูงๆ เพื่อเล่นนั้นจะทำให้ระบบต่างๆ ทำงานผิดปกติ และการเพ่งหน้าจอโทรศัพท์ในที่มืดจะทำให้สายตามีปัญหาได้ด้วย" นพ.เจษฎากล่าว
          ด้าน พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม คร. กล่าวว่า การตรวจสอบความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน สามารถทำได้โดย 1.ดูว่าแสงภายในห้องเพียงพอหรือสว่างเกินไปหรือไม่ หากมืดหรือจ้าเกินไปจะมีความเมื่อยตา สำหรับห้องที่หลอดไฟสูงเกินไป อาจแก้ไขด้วยการตั้งโคมไฟไว้ที่โต๊ะ แต่ต้องไม่จ้าเกินไป ส่วนแสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรเท่าๆ กับแสงรอบๆ 2.การระบายอากาศในห้องทำงาน คือรู้สึกอึดอัดหรือไม่ แม้จะไม่ร้อนแต่จะรู้สึกอึดอัด แสดงให้เห็นว่าคุณภาพอากาศในห้องไม่ดี เช่น มีคาร์บอนมอนอกไซด์เยอะเกินไป อาจทำให้รู้สึกง่วงนอน และ 3.โครงสร้างของโต๊ะเก้าอี้ต้องเหมาะกับความสูงของผู้ทำงาน เช่น นั่งแล้วเข่าต้องตั้งฉากได้ แขนขนานกับพื้นดิน เป็นต้น.


pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved