HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 03/04/2560 ]
กรมควบคุมโรค ห่วงช่วงปิดเทอมเด็กชวนกันลงเล่นน้ำ ย้ำผู้ปกครองอย่าปล่อยเด็กเล่นกันเองตามลำพัง หลังพบปิดเทอมเดือนแรกมีเด็กเสียชีวิตแล้ว 31 ราย

  การควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาเด็กจมน้ำในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน โดยเฉพาะการชวนกันไปเล่นน้ำกันเอง โดยไม่มีผู้ใหญ่ช่วยดูแลจากข้อมูลการเฝ้าระวังในช่วงปิดเทอมนี้ เดือน มี.ค.เดือนเดียวมีเด็กเสียชีวิตแล้ว 31 ราย เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี แนะผู้ปกครองต้องดูแลเด็กใกล้ชิด คนในชุมชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังและตักเตือนเด็ก
          เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์เจษฏา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วง ปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ เด็กจะอยู่บ้านและรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งผู้ปกครองต้องคอยสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการลงเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ ประกอบกับช่วงนี้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลำคลอง สระน้ำ มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ไหลเชี่ยวแรงและมีระดับความลึกมาก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการจมน้ำมากขึ้น
          การจมน้ำเสียชีวิตของเด็กไทย (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด โดยในปี 2559 เสียชีวิต 197 คน (ค่าเฉลี่ย 10 ปี: ปี 2550-2559 คือ 348 คน บางปีมีจำนวนสูงเกือบ 450 คน) ข้อมูลการเฝ้าระวังจากสื่อของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรคเบื้องต้นพบว่าช่วงปิดเทอมเพียง 28 วัน(1-28 มีนาคม 2560) พบว่า มีเหตุการณ์เด็ก ตกน้ำ จมน้ำ 26 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 31 คน โดยเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปีมากที่สุด(27 คน) รองลงมาคือเป็นเด็กอายุต่ำกวา 5 ปี(4 คน) เพศชายจมน้ำสูงกว่าเพศหยิง 2 เท่าตัว นอกจากนี้ ยังพบว่ามากกว่าครึ่ง(ร้อยละ 58) พบว่าขณะจมน้ำเด็กอยู่กับเพื่อหนรือพี่/น้อง แสดงว่าเด็กมักจะชวนกันไปเล่นน้ำด้วยกัน มากกว่าไปกับผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ(ร้อยละ 77.4)
          ส่วนแหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากสุด คือแหล่งน้ำการเกษตร คลอง หนองน้ำ บ่อน้ำ/สระน้ำ(ร้อยละ 41.9) รองลงมาคือ คลองชลประทาน/อ่างเก็บน้ำ(ร้อยละ 32.3)และที่น่าสนใจคือมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสวนน้ำที่เปิดให้บริการและมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งสถานที่ดังกล่าวไม่ควรมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต และจากการเฝ้าระวังข่าวในช่วงปิดเทอมทุกเหตุการณ์ไม่พบว่ามีการช่วยผิดวิธีโดยการอุ้มพาดบ่า
          นายแพทย์เจษฏา กล่าวต่อไปว่า คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยจากการจมน้ำในปิดเทอม โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนี้ 1.ชุมชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังและตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำกันเองตามลำพัง 2.ชุมชนจัดให้มีป้ายเตือนและอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ 3.สอนเด็กให้รู้จักการใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย 4.ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กอย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำ ตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม 5.ไม่ยืนใกล้ขอบบ่อเพราะช่วงหน้าฝนพื้นบริเวณขอบบ่อนิ่มและมีหญ้าปกคลุม อาจเกิดการลื่นไถลลงไปในน้ำ 6.ใช้เสื้อชูชีพเสื้อพยุงตัว หรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น แกลลอนพลาสติกคล้องเชือกให้เด็กติดตัวไว้
          สำหรับสระว่ายน้ำและสวนน้ำที่เปิดให้บริการควรมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างน้อย 1 คนต่อผู้ใช้บริการ 50 คน ควรให้ผู้รับบริการสวมเสื้อชูชีพหรือเสื้อพยุงตัวทุกครั้งเมื่อเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำและมีอุปกรณ์อย่างเพียงพอ ผู้ปกครองที่พาเด็กไปเที่ยวต้องดูเด็กให้อยู่ในสายตาตลอดวเลา เด็กเล็กที่ว่ายน้ำไม่เป็นไม่ควรอนุญาตให้ไปเล่นในบริเวณน้ำลึกแม้จะสวมอุปกรณ์ชูชีพอยู่ ที่สำคัญควรจัดให้มีชุดปฐมพยาบาลที่เหมาะสมและสามารถใช้งานได้
          "อีกมาตรการสำคัญที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉินคือ "ตะโกน โยน ยื่น" ได้แก่ 1.ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอน พลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละ หลายๆ ชิ้น 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับเช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422" นายแพทย์เจษฏา กล่าวปิดท้าย


pageview  1205146    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved