HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 31/03/2560 ]
ปฏิรูปสังคมสูงวัยน่าอยู่กระตุ้นส่งเสริมคนมีบุตร

  "เด็กในวันนี้คืออนาคตของชาติ" ทว่าปัจจุบันอัตราการเกิดของเด็กไทยลดน้อยลงจนน่าตกใจ จากเหตุผลที่คนแต่งงานน้อยลงและไม่ต้องการมีบุตร เพราะถือเป็นภาระด้านค่าใช้จ่าย ประกอบกับบ้านเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว นี่เองจึงอาจกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพราะเยาวชนถือเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญ ถึงขึ้นภาครัฐออกนโยบาย "สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ" เพื่อเพิ่มประชากรเด็ก ในงานเสวนาครั้งที่ 5 ประเด็น "ปฏิรูปสังคมสูงวัย สร้างเด็กเกิดใหม่ให้มีคุณภาพ" ที่จัดขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องด้านอนามัยเจริญพันธุ์ เพื่อฉายภาพกว้างของปัญหาการเกิดที่ลดลง ตลอดจนส่งเสริมการมีบุตร และข้อเสนอแนะในการเลี้ยงดูทารกให้มีประสิทธิภาพ
          เริ่มจาก นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนามัย การเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ไล่เรียงถึงตัวเลขการเกิดที่น้อยลง เพราะอันที่จริงแล้ว อัตราการเกิดใหม่ต้องอยู่ที่ปีละไม่ต่ำว่า 7 แสน 5 หมื่นคน แต่จากข้อมูลปี 2556 เด็กที่เกิดใหม่มีเพียง 6 แสน 8 หมื่นคนเท่านั้น จึงถือได้ว่าการเกิดใหม่ค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งอาจกระทบต่อภาคแรงงานและเศรษฐกิจในอนาคต
          "เหตุผลหลักที่ทำให้อัตราการเกิดในปัจจุบันลดลงมี 2 เรื่องคือ "พร้อมไม่ท้อง" หรือมีฐานะดีแต่ไม่มีบุตร ซึ่งคนกลุ่มนี้มีอายุ 35 ปีขึ้นไป และ "ท้องไม่พร้อม" ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์กลุ่มนี้มักจะคลอดบุตรในช่วงอายุก่อน 18 ปี ปัจจุบันมีแนวโน้มที่สูงมาก สาเหตุอื่นที่ทำให้ประชากรเด็กลดลงนั้น เนื่องจากผู้หญิงยุคใหม่พึ่งพาตัวเองได้ เพราะมีการศึกษาที่สูง จึงมักอยู่เป็นโสดมากขึ้น และมองว่าการมีบุตรต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น อีกทั้งสังคมไทยไม่น่าอยู่ เช่น ปัญหาเด็กติดเกม, ไม่มีคนเลี้ยงดู, พี่เลี้ยงทำร้ายเด็กต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้จำนวนของเด็กเกิดใหม่ลดลงโดยปริยาย"
          ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายกระตุ้นการแต่งงาน คลอดบุตร และเลี้ยงบุตรที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การสนับสนุนให้ตั้งครรภ์ด้วยความสมัครใจ และมีลูกเมื่อพร้อม การตรวจคัดกรองโรคทางพันธุกรรมก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงนโยบายการฝากท้อง ไปจนการคลอดบุตรที่มีประสิทธิภาพ การให้เงินอุดหนุนดูแลเด็กยากจนเดือนละ 600 บาท และมีคลินิกให้บริการปรึกษาผู้ที่ท้องไม่พร้อมเพื่อลดการทำแท้งเถื่อน และช่วยให้ทารกที่คลอดใหม่จากคุณแม่ท้องไม่พร้อมมีสถานที่เลี้ยงดูที่เหมาะสม
          ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ประเทศไทยและทั่วโลกประสบความสำเร็จในการคุมกำเนิดจนทำให้จำนวนเด็กเกิดลดลงมาก จนครอบครัวที่เคยมีลูก 5-6 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 1-2 คนเท่านั้น กระทั่งปัจจุบันในต่างประเทศเองก็ได้หันมาส่งเสริมการมีบุตรเพื่อเพิ่มกำลังแรงงานเหมือนบ้านเรา งานนี้ รศ.ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ขยายภาพความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนประชากรในประเทศกลุ่มยุโรปและเอเชีย อาทิ ประเทศสวีเดน, ฟินแลนด์, เบลเยียม รวมถึงญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันมีอัตราการเกิดของทารกเพิ่มขึ้น เนื่องจากการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เช่น ให้วันหยุดกับพ่อแม่เยอะขึ้นเพื่อดูแลเด็กน้อย, ให้เงินเลี้ยงดูบุตรจำนวนมาก, มีสถานรับเลี้ยงเด็กแรกเกิดไปจนถึง 3 ขวบปี สำหรับพ่อแม่ทำงาน, ให้พ่อแม่ตัดสินใจได้ว่าจะมีลูกกี่คน ฯลฯ
          "นโยบายส่งเสริมการเกิดใหม่ในกลุ่มประเทศยุโรป ไม่ได้ต้องการให้พ่อแม่มีลูกมากขึ้น แต่เขาต้องการทำอย่างไรเพื่อให้เด็กที่คลอดใหม่เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ หรือเน้นทำให้ประชากรเด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้พ่อแม่มือใหม่ตัดสินใจเองว่าจะมีลูกกี่คน และสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีคู่ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโมเดลที่ดีสำหรับประเทศไทยค่ะ"
          อีกหนึ่งปัญหาที่คนทั่วไปและภาครัฐไม่ค่อยพูดถึงอย่าง "ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคประจำตัวอย่างหนึ่ง" ทำให้คนกลุ่มนี้หมดโอกาสในการมีบุตร ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการที่จำนวนประชากรเด็กไทย "เกิดน้อยลง" ข้อเสนอแนะจาก อ.ดร.นพ.สรภพ เกียรติพงษ์สาร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
          "การที่ภาครัฐไม่ยอมรับว่า "ภาวะมีบุตรยากเป็นโรค" ก็ทำให้คู่สมรสที่มีฐานะปานกลางที่สามารถเลี้ยงดูทารกให้เติบโตได้ดี ไม่สามารถมีบุตรได้ เนื่องจากคลินิกวางแผนมีบุตรค่อนข้างมีราคาสูง และกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง หรือทำได้เฉพาะคนที่มีเงินเท่านั้น ซึ่งหากภาครัฐให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ราคาของคลินิกมีบุตรยากก็จะถูกลง คนชนบทรายได้ปานกลางก็สามารถมีลูกได้ ซึ่งต่างกับคลินิกต่างประเทศที่มีการตั้งเป้ารับมือกับปัญหานี้ เห็นได้จากราคาในการรักษาการมีบุตรยาก หรือทำเด็กหลอดแก้ว อยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ หรือแก้ปัญหาด้วยการให้สาวโสด "เก็บไข่ไว้ก่อน" เพื่อมีบุตรในอนาคต ก็อยากฝากประเด็นนี้ไว้ครับ"
          นอกจากส่งเสริมการมีบุตรแล้ว ทว่าการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น "การหางานเหมาะกับวัยให้ผู้สูงอายุทำ" เป็นอีกแนวทางที่ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากเยาวชนแรกคลอด คือข้อเสนอแนะจาก รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ เพราะการแก้ปัญหาโดยใช้แรงงานจากเพื่อนบ้าน หรือไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีอัตราการเกิดลดลงเหมือนบ้านเรา เป็นแก้ปัญหาการขาดแรงงานที่มีคุณภาพเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น
          "ตอนนี้บ้านเราถือได้ว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย คิดเป็นร้อยละ 15 แล้ว การแก้ไขการขาดแคลนแรงงานจากภาวะการเกิดของทารกที่น้อยลง คือการหาอาชีพที่เหมาะสมกับวัยให้ผู้สูงอายุทำ เช่น ให้ท่านทำงานเบาๆ ที่บ้าน หรือทำงานผ่านออนไลน์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะได้ประโยชน์หลายทาง ทั้งทำให้คนแก่มีงานทำ ไม่เหงา อีกทั้งมีรายได้ใช้จ่ายส่วนตัว และทำให้บ้านเรามีแรงงานเพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจค่ะ".


pageview  1205124    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved