HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 22/03/2560 ]
รับมือสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพเน้นปรับพฤติกรรมลด'โรคเอ็นซีดี'

 เรื่องของผู้สูงวัยไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นประเด็นที่คนในสังคมต้องหันมาช่วยดูแลเพื่อเสริมสร้างสังคมสูงวัยในอีก 5 ปีข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพ จากการสำรวจยังพบว่า "คนวัยเกษียณ" มักป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ "NCDs" สูงถึงร้อยละ 95 สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของ "มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย" และ "สถาบันคีนันแห่งเอเชีย" ที่ต้องการสร้างสังคมความสุขให้กับผู้สูงวัยอย่างแท้จริง จึงได้เปิดตัวโครงการ "ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า (เท่า)-ทัน-สุข" (Pfizer Healthy Aging Society) ภายใต้งานเสวนาที่ใช้ชื่อว่า "สังคมผู้สูงวัย ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสูงวัย แต่คือความท้าทายของสังคมไทยในอาเซียน" ที่งานนี้ มร.เซลิม เซสกิน ประธานกรรมการมูลนิธิไฟเซอร์ ประเทศไทย ได้เชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาร่วมแชร์ข้อมูลในการดูแลผู้สูงวัยอย่างรอบด้าน
          เริ่มเวทีเสวนาจาก วิมล บ้านพวน รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สะท้อนว่า นอกจากเรื่องการเกิดของทารกที่น้อยลง คิดเป็นร้อยละ 1.6 ต่อปีแล้ว อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือ ผู้สูงวัยร้อยละ 95 ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมถึงผู้สูงวัยที่ต้องอยู่ลำพังจำนวน 6 แสนคนต่อปี ทั้งจากภาวการณ์อยู่เป็นโสด ซึ่งการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยของรัฐบาลที่ดำเนินงานโดยกระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการป้องกันภาวะผู้สูงวัยครองเมือง ตั้งแต่ส่งเสริมการตั้งครรภ์ที่ดีในมารดา เพื่อให้เด็กคลอดออกมามีสมองที่ดี และยังส่งเสริมสุขภาพคนสูงวัยให้มีสุขภาพแข็งแรงไปจนถึงอายุ 80 ปี
          "ที่ผ่านมา กรมอนามัยและ สปสช.ได้ร่วมกันประเมินผู้สูงวัย จำนวน 2 หมื่น 8 พันราย ใน 28 จังหวัด โดยพบว่าร้อยละ 46 มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคอ้วน (1 ใน 2 คนมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน) ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่าง โรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ที่เกิดพฤติกรรม 1.การไม่ออกกำลังกาย 2.ดื่มน้ำไม่สะอาด 3.ไม่กินผักสด 4.ดื่มสุรา 5.สูบบุหรี่ โดยการรณรงค์ให้ผู้สูงวัยกลุ่มนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว ภายใต้กิจกรรมที่ใช้ชื่อว่า "ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวแซบ" เนื่องจากยังพบว่าคนอายุ 60 ปี 1 ใน 8 คนป่วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมีอัตราค่อนข้างสูง"
          นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้ประเมินคุณภาพผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่มที่น่าสนใจ 1.กลุ่มติดสังคม ร้อยละ 80 2.กลุ่มดูแลตัวเองได้ ร้อยละ 18 3.กลุ่มภาวะพึ่งพิง (ติดเตียง) ร้อยละ 1-4 ซึ่งกระทรวงได้มีการผลักดันให้ผู้สูงวัยทั้ง 3 กลุ่มนี้ได้รับบริการของภาครัฐให้ได้ร้อยละ 56.7 โดยเฉพาะการดูแลระยะยาวอย่าง "ทีมแพทย์ครอบครัวในชุมชน" หรือการเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน โดยทีมแพทย์สหวิชาชีพ และอบรมให้คนในชุมชนผลัดเปลี่ยนกันดูแลผู้ป่วยเรื้อรังในหมู่บ้าน โดยจะประเมินและติดตามผลโดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
          ขณะที่ ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการแผนรับมือผู้สูงวัยในอนาคตว่า "นอกจากการให้ความรู้เกี่ยวกับ "ภาวะสูงวัย" กระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตอย่างไรแล้ว ทางกระทรวง พม.ได้มุ่งส่งเสริมทั้งสุขภาพ, ร่างกาย อีกทั้งการคุ้มครองสิทธิ์ให้กับคนสูงวัย เช่น การรับผู้สูงอายุที่ไร้คนดูแลมาอยู่ในบ้านผู้สูงอายุ ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวง ที่สำคัญการสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุเพื่อให้คนแก่ได้เกิดความภูมิใจ ตรงนี้จะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อครอบครัว ซึ่งก็จะทำให้คุณภาพชีวิตยืนยาวขึ้น"
          เกริ่นไว้ตอนต้นว่า "โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง" (NCDs) เป็นภัยคุกคามสุขภาพผู้สูงวัย แต่การรอการช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี ในการส่งเสริมสุขภาพวัยเกษียณ ในฐานะภาคเอกชนที่เป็นสถาบันพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนทุกมิติ รวมถึงด้านสุขภาพคนวัยเกษียณ ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเชีย บอกถึงการรับมือสังคมผู้สูงวัยว่า
          "จากการวิจัยและศึกษาเรื่องนี้เป็นเวลา 3 ปี พบว่าปัญหาสำคัญของการรับมือสังคมผู้สูงวัยคือเรื่อง "สุขภาพ" เนื่องจากภาครัฐใช้จ่ายงบประมาณในการกำกับดูแลสุขภาพคนไทย รวมถึงผู้สูงวัย อยู่ที่ราวๆ 4 แสนล้านบาท ซึ่ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูงวัยในชนบทป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกิดจากที่ "วิถีชีวิตของคนในชนบทเปลี่ยนแปลงไป" บอกเลยว่าคนไทยกินอาหารเลียนแบบชาวตะวันตกมากขึ้น ไม่ได้กินข้าวกับผักและน้ำพริกเหมือนก่อน รวมถึง "ระบบโฆษณาชวนเชื่อ" ที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร อีกทั้งการออกกำลังกายลดลง เช่น ผู้สูงวัยใน กทม.ที่ติดโซเชียลก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูง ไหนจะปัญหาผู้สูงอายุหลัก 60 ปี ไม่มีเงินและไม่มีรายได้ รวมถึงการที่คนสูงวัยอยู่เพียงลำพังมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันจัดการให้หมดไป ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างให้สังคมไทยมีสุขภาพกายและจิตที่ดี"
          ภาวะของสังคมผู้สูงวัยในประเทศไทยจะเป็นไปในทิศที่ก้าวกระโดด หรือภายใน 20 ปี บ้านเรามีอัตราของผู้สูงวัยที่สูงกว่าการเกิด ขณะที่อเมริกาใช้เวลาร่วม 50 ปี ในการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ภญ.ศิริวรรณ ชื่นชมสกุล กรรมการและเลขานุการ "มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย" บอกถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รับมือ "สังคมสูงวัยแบบก้าวกระโดด" ว่า "ในฐานะที่เป็นองค์กรการกุศลอิสระ เพื่อมอบการเรียนรู้และส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีในกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาสทุกกลุ่ม ที่ผ่านมามูลนิธิเราได้มีโครงการที่ชื่อว่า "Get Home" ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวที่เกิดจากบริษัทแม่ (บริษัท ไฟเซอร์ ในประเทศอเมริกา) ซึ่งเริ่มเปิดตัวตั้งแต่ปี 2555 โดยโครงการนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัยในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เช่น การให้ความรู้ในการบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้สูงวัย และการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพดี ซึ่งเราก็คาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อบ้านเราก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีค่ะ".


pageview  1205090    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved