HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 10/03/2560 ]
คนไทยป่วยโรคไตที่3ในอาเซียนเหตุจากกลุ่มยาเอ็นเสด-ยาจีนมีขายเกลื่อนตลาด

จุฬาฯ * คนไทยป่วยเป็นโรคไตสูงถึงอันดับ 3 ในอาเซียน เปิดกลุ่มยาเอ็นเสด ในยาแก้ประจำเดือน ยาแก้ปวด แพทย์เตือนคนไทยกินยาแบบผิดๆ ทำไตพัง พบยาชุด สมุนไพรเถื่อน-ยาจีนเกลื่อนท้องตลาด หลงเชื่อกินไตวายถึงตาย จี้ อย.เร่งจัดการด่วน
          ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่  9 มีนาคม มีการแถลงข่าว "ยาที่เป็นอันตรายต่อไต" เนื่องในวันไตโรค ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมทุกปี โดยศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับนักวิชาการจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) และเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต
          ศ.นพ.ชัยรัตน์ ฉายากุล อายุรแพทย์โรคไต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และประธานอนุกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผล กล่าวว่า จากการรักษาโรคไตพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังสูงถึง 8 ล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากร ซึ่งสูงติดอันดับ 3 ในอาเซียน และมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวานหรือความดันเลือดสูง แต่ปัญหาคนไข้ไตที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล เพราะเชื่อว่าการกินยามากๆ ทำให้ไตทำงานหนักหรือเบื่อหน่ายในการกินยา นอกจากนั้นยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ป่วยจากการใช้ยาโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่กินยาแก้ปวดแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เป็นเวลานาน ยาฆ่าเชื้อบางชนิด รวมทั้งยาจีน-ยาไทยที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด
          "การดูแลและป้องกันปัญหาโรคไต มี 4 หลักที่ควรทำเพื่อถนอมไตคือ ควรกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง ควรสอบถามจนเข้าใจถึงยาที่กินอยู่ ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าเป็นโรคอะไร และควรมีรายชื่อยาที่ใช้อยู่เป็นประจำพกติดตัวไว้เมื่อมาพบแพทย์ ส่วนหลัก 4 ไม่ เพื่อป้องกันผลเสียของยาต่อไตคือ ไม่ควรหยุดยาเอง ไม่ควรซื้อยาแก้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาบำรุงอาหารเสริมมากินเอง ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาในการกินยาที่ไม่รู้จัก และไม่ควรกินยาของผู้อื่น หากใช้ยาได้ถูกต้อง สมเหตุผล ปัญหาเรื่องไตก็จะลดลงมาก" ศ.นพ.ชัยรัตน์กล่าว
          ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า ยา กลุ่มเอ็นเสดเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวด บวม แดง ร้อน มีที่ใช้หลากหลาย เช่น ใช้บรรเทาปวดจากโรคเกาต์ ไมเกรน ข้อเข่าเสื่อม ปวดประจำเดือน และการปวดทางทันตกรรม เป็นต้น ยากลุ่มนี้หลายคนใช้ในชีวิตประจำวัน หากใช้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ไตเสื่อม ไตวาย หากใช้ต่อเนื่องนานๆ ต้องมีการตรวจติดตามการทำงานของไต และหลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่เป็นโรคไตอยู่เดิม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการกำหนดภายใต้แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาที่ 15 เรื่อง "การใช้ยาอย่างสมเหตุผล" ได้กำหนดตัวชี้วัดเกี่ยวกับยาเอ็นเสดไว้ 2 ตัวชี้วัด ที่โรงพยาบาลทั้งหลายควรปฏิบัติให้ผ่านเกณฑ์
          ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัด การศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรคไตของไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อภาระทางเศรษฐกิจทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ โดยพบว่างบประมาณในการล้างไตสูงขึ้นทุกปี ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 สูงถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ที่มีสาเหตุมาจากการใช้ยาต่างๆ จำนวนไม่น้อย โดยการใช้ยาที่ส่งผลต่อโรคไต
          นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กล่าวว่า ตนป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังซึ่งปัจจุบันนี้ได้รับการปลูกถ่ายไตแล้ว สาเหตุของการป่วยเป็นไตวายเกิดจากการใช้ยาสมุนไพรและการซื้อยากินเอง โดยเชื่อการโฆษณาว่ายาสมุนไพรสามารถบำรุงล้างไต ซึ่งมีราคาแพงถึง 7,000-25,000 บาท แต่กลับป่วยเป็นไตวาย เพราะยาเหล่านี้ไม่ใช่การรักษาที่ถูกต้อง ทำให้ใช้ชีวิตลำบากและทรมานมาก มีชีวิตรอดมาได้ด้วยการฟอกเลือด 3 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์ ติดต่อกันถึง 10 ปี กว่าจะได้เปลี่ยนไต จึงไม่ควรเชื่อยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมทั้งยาสมุนไพรต่างๆ ที่เกินจริง ความจริงแล้วผู้ป่วยโรคไตวายทั่วไปต้องกินยาตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีวิธีการบำบัดทดแทนไต ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตในระยะเริ่มต้น ถ้าหากซื้อยากินเองตามคำชวนเชื่อหรือคำโฆษณา อาจจะทำให้ไตวายเร็วขึ้นและเสียชีวิตได้.


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved