HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 02/03/2560 ]
เปิด 7 เหตุผลหยุดปล่อยผี 'สิทธิบัตรยา'

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าในการขอจดสิทธิบัตรของต่างประเทศที่ล่าช้ากว่า 12,000 ราย โดยจะใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหานั้น
          ล่าสุดกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา และขอให้ทบทวนด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
          1.การพิจารณาและมีมติไม่ได้ตั้งอยู่บนการศึกษาข้อเท็จจริง ในเรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดการล่าช้าในการพิจารณาและออกสิทธิบัตร ทั้งนี้ การล่าช้าไม่ได้เกิดจากการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของสำนักสิทธิบัตรแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีสาเหตุหลัก 2 ประการ
          1.1 ด้วย พ.ร.บ.สิทธิบัตรเองเปิดช่องให้เกิดการล่าช้า โดยที่เมื่อผู้ขอรับสิทธิบัตรมายื่นคำขอรับสิทธิบัตร ในกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าต้องประกาศโฆษณาภายในระยะเวลาเท่าใดเพื่อให้สาธารณะรับทราบและยื่นคำคัดค้านหากเห็นว่าไม่สมควร นอกจากนี้นับตั้งแต่วันที่ประกาศโฆษณา ผู้ขอรับสิทธิบัตรมีระยะเวลาถึง 5 ปี ในการยื่นขอตรวจสอบการประดิษฐ์เพื่อให้สำนักสิทธิบัตรเริ่มการพิจารณาคำขอฯ ในส่วนนี้ กฎหมายเปิดช่องให้เกิดความล่าช้าแล้วในชั้นหนึ่ง
          1.2 ความล่าช้าในการพิจารณาและให้สิทธิบัตร โดยเฉพาะในเรื่องยา เกิดจากผู้ขอรับสิทธิบัตรเอง โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการวิจัยพบว่า ผู้ขอรับสิทธิบัตรถึงร้อยละ 60 มีการยื่นขอตรวจสอบการประดิษฐ์ในระยะเวลา 4-5 ปีหลังการประกาศโฆษณา และมีมากถึงร้อยละ 14 ที่มีการยื่นขอตรวจสอบการประดิษฐ์ในวันสุดท้ายของระยะเวลาที่สามารถยื่นขอตรวจสอบ ซึ่งบ่งบอกถึงความไม่พร้อมของผู้ขอรับสิทธิบัตรเอง รวมถึงการอาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการกีดกันการขอรับสิทธิบัตรของนักวิจัยรายอื่น ทั้งนี้ การคุ้มครองสิทธิบัตรได้เกิดขึ้นแล้วนับแต่วันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร
          ทั้งๆ ยังไม่ได้เริ่มหรืออยู่ในระหว่างพิจารณาคำขอฯ และทำให้บริษัทยาหรือนักวิจัยรายอื่นไม่กล้าที่จะวิจัยและพัฒนา รวมถึงผลิตยาตัวเดียวกันในราคาถูกกว่าออกมาแข่งขัน เพราะเสี่ยงต่อการขู่ฟ้องเอาผิดทางกฎหมายและชดเชยค่าเสียหายจำนวนมาก หากเมื่อที่สุดแล้ว สำนักสิทธิบัตรตัดสินให้สิทธิบัตรแก่คำขอรับสิทธิบัตรยาฉบับนั้น
          2.การเร่งออกสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยาจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพ และไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เลยแก่นักวิจัยของไทย เนื่องจากผลการศึกษาคำขอรับสิทธิบัตรทางยาของไทยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในปี พ.ศ.2556 พบว่า ผู้ขอรับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยาในประเทศไทยกว่าร้อยละ 95 มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยพบว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรจากประเทศสหรัฐอเมริกามีมากที่สุดถึงร้อยละ 33 และจากประเทศเยอรมนีร้อยละ 13 ผู้ขอรับสิทธิบัตรที่มีสัญชาติไทยมีเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น
          นอกจากนี้ คำขอรับสิทธิบัตรทางยาของกลุ่มประเทศดังกล่าวก็มีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการประดิษฐ์เพียงเล็กน้อยแล้วนำมายื่นขอรับสิทธิบัตรเป็นฉบับใหม่ เพื่อขยายเวลาของการคุ้มครองออกไป ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 84 ที่เป็นคำขอรับสิทธิบัตรลักษณะดังกล่าว ในบางรายการยา เช่น Metformin ซึ่งเป็นยาเก่าที่มีการใช้มานานกว่า 90 ปี มีคำขอรับสิทธิบัตรมากถึง 13 ฉบับ ทำให้ขยายอายุสิทธิบัตรยามากถึง 29 ปี
          3.การเร่งออกสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยาโดยไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ จะขัดต่อพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในมาตรา 9 (4) ซึ่งกำหนดการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง คือ วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์ แต่ผลการศึกษาพบว่า ในคำขอรับสิทธิบัตรที่ค้างท่อในปัจจุบันมีข้อถือสิทธิด้านการใช้ยาและข้อบ่งใช้ยามากถึงร้อยละ 73 ซึ่งขัดต่อกฎหมายหลักด้านสิทธิบัตรของประเทศ
          4.การตรวจสอบความเหมาะสมที่จะได้รับสิทธิบัตรของแต่ละคำขอรับสิทธิบัตร เป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางวิชาการอย่างสูง รวมถึงประสบการณ์ของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร ไม่ใช่การทำงานในทางสารบัญที่ต้องเร่งรัดให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามความต้องการของผู้ใช้บริการ จึงต้องอาศัยเวลาและการสืบค้นข้อมูลค่อนข้างมากเพื่อประกอบการพิจารณาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ การใช้หลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาให้สิทธิบัตรแก่ผู้ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรมาแล้ว 5 ปีขึ้นไป จึงไม่เป็นการถูกต้องตามหลักวิชาการ และจะทำให้ภาพลักษณ์การทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเพียงเจ้าหน้าที่งานสารบัญทำหน้าที่ในการรับส่งเอกสารเพื่ออนุมัติสิทธิบัตรเท่านั้น
          นอกจากนี้ การอาศัยหลักเกณฑ์คำขอรับสิทธิบัตรที่มีการยื่นขอในต่างประเทศแล้วจะไม่ตรวจสอบรายละเอียดมากเพราะถือว่าผ่านการพิจารณามาแล้ว ย่อมไม่ถูกต้องตามหลักอธิปไตยและหลักกฎหมายภายในประเทศ เพราะเงื่อนไขในการอนุมัติสิทธิบัตรของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน การยื่นขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศหรือแม้กระทั่งได้รับสิทธิบัตรแล้วจากต่างประเทศก็อาจขัดต่อกฎหมายสิทธิบัตรของประเทศไทย
          5.การเร่งออกสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางยาจะส่งผลให้เกิดการ ผูกขาดตลาดยาและทำให้ยามีราคาแพงมาก ซึ่งย่อมก่อให้เกิดผล กระทบโดยตรงต่องบประมาณด้านสาธารณสุข สวนทางกับนโยบายการควบคุมงบประมาณด้านสาธารณสุขของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเอง ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่แสดงให้เห็นว่ายาที่มีสิทธิบัตรมีราคาสูงกว่ายาชื่อสามัญมากถึง 3-10 เท่า ในบางรายการยามีราคาสูงกว่าถึง 25 เท่า เช่น ยา Clopidogrel เป็นต้น ดังนั้น แม้อาจจะมีมาตรการออกมาแก้ไขในภายหลังก็ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หนำซ้ำยังจะเป็นการซ้ำเติมปัญหางบประมาณด้านสาธารณสุขที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันให้หนักขึ้นอีก
          6.การเร่งออกสิทธิบัตรอาจส่งผลให้กลไกการตรวจสอบและคัดค้านคำขอฯ ที่ไม่มีคุณภาพไม่สามารถทำงานได้ นั่นหมายถึงการคัดค้านคำขอฯ ก่อนได้รับสิทธิบัตร ซึ่งในกระบวนการปัจจุบันก็มีปัญหาในการติดตามสืบค้นเพื่อยื่นคำคัดค้านให้ทันภายใน 90 วันนับจากวันประกาศโฆษณา จนมีผลทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ รัฐต้องสูญเสียงบประมาณและประชาชนไม่ได้รับการรักษาหรือเสียเงินจ่ายค่ายาเอง เพราะยามีสิทธิบัตรแบบที่ไม่สมควรจะได้ และราคาแพงจนไม่สามารถรวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศได้ ตามข้อมูลมูลค่าความเสียหายที่ปรากฏอยู่ในงานวิจัย ซึ่งเป็นผลมาจากการพิจารณาที่ไม่มีประสิทธิภาพพอ
          7.การออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตรและการที่จะออกคำสั่งฯ เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขยาราคาแพงจากการเร่งออกสิทธิบัตร เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ขาดการมองในเชิงระบบ และเป็นการแก้ไขปัญหาหนึ่งแต่สร้างอีกปัญหาหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงกว่า.
          เรื่อง เรียกร้องให้ยุติการจะออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตรและตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
          จากข่าวที่ปรากฏ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาการพิจารณาออกสิทธิบัตรล่าช้าที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ โดยจะเร่งออกสิทธิบัตร และผ่อนผันไม่ต้องตรวจคำขอฯ ให้ละเอียดกรณีที่มีการยื่นจดในไทยแต่ได้รับสิทธิบัตรในประเทศอื่นแล้ว กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา และขอให้ยุติการออกคำสั่งดังกล่าวด้วยเหตุผลต่อไปนี้
          1.การจะออกคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่บนการศึกษาข้อเท็จจริงในเรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาและออก    สิทธิบัตรอย่างรอบด้าน  ความล่าช้าดังกล่าวนอกจากจะมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว สาเหตุสำคัญคือ บริษัทยาหรือผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่ให้ระยะเวลาในการยื่นเอกสารรายละเอียดการจดสิทธิบัตรยาวนานถึง 5 ปี และมักจะมายื่นเอกสารในปีท้ายๆ ทำให้การพิจารณาคำขอไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้เป็นประโยชน์กับผู้ยื่นคำขอ เพราะกฎหมายให้สิทธิคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่น ทั้งที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับพิจารณาตามกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ยื่นใช้ผูกขาดตลาดและราคายา
          2.การเร่งออกสิทธิบัตรกลับยิ่งส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากคำขอที่ค้างอยู่โดยเฉพาะในเรื่องยา ส่วนใหญ่เป็นคำขอที่ไม่เข้าข่ายสมควรจะได้รับสิทธิบัตร หรือเรียกว่าสิทธิบัตรต่อยอดแบบไม่มีวันตาย ยิ่งเร่งออกสิทธิบัตรยิ่งไปจำกัดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในประเทศ ในขณะที่มีการจัดทำบัญชีนวัตกรรมยาชื่อสามัญเพื่อเตรียมการผลิตยาได้เองในประเทศตามนโยบาย 4.0 หากคำสั่งนี้บังคับใช้จะทำให้ไม่สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้ และกลับทำให้เกิดการผูกขาดการผลิตและทำให้ยาราคาแพงมากขึ้น
          3.การเร่งออกสิทธิบัตรจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดตลาดยาและยาแพงโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพิสูจน์ว่าคำขอฯ นั้นมี "ความใหม่" และ "ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น" นายกฯ ต้องเข้าใจก่อนว่าการให้สิทธิบัตรกับสิ่งประดิษฐ์มีเพื่อสนับสนุนส่งเสริมเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมไทย จึงต้องเน้นคำขอของคนไทย ไม่ใช่เน้นรับจดสิทธิบัตรของผู้ประดิษฐ์จากต่างประเทศ การเน้นรับจดต่างประเทศคือความคิดที่ผิด และเป็นผลร้ายต่อธุรกิจไทยทุกสาขารวมทั้งนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล
          4.การเร่งออกสิทธิบัตรอาจส่งผลให้กลไกการตรวจสอบและคัดค้านคำขอฯ ไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งในขณะที่กระบวนการปัจจุบันยังมีปัญหาในการติดตามสืบค้นเพื่อยื่นคำคัดค้านให้ทันภายใน 90 วันนับจากวันประกาศโฆษณา คำสั่งดังกล่าวยิ่งเป็นการทำลายระบบการถ่วงดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของผู้ประดิษฐ์และประชาชน ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณ
          องค์กรภาคประชาสังคมเห็นว่าการแก้ปัญหาของประเทศ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเป็นประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง การใช้เครื่องมือพิเศษไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน จึงเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยุติการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาการออกสิทธิบัตรล่าช้า และขอให้มีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ให้เห็นถึงปัจจัยและมูลเหตุของปัญหาการล่าช้าก่อนที่จะมีมาตรการใดๆ รวมทั้งต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอันจะได้รับผลกระทบจากการเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยารักษาโรค ดังกล่าวกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และองค์กรภาคียินดีที่จะเข้าพบเพื่อให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหานี้.
          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา เมื่อวันศุกร์ ที่ 24 ก.พ.60
          เรื่อง มาตรา 44 ก็มีคนพูดกันมากมาย วิพากษ์วิจารณ์กัน ทั้งดี และไม่ดี ตลอดจนคำสั่ง คสช. ต่างๆ นั้นก็อยากให้เข้าใจตรงกันว่าเป็นเพียงกฎหมายชนิดหนึ่ง เหมือนกับกฎหมายอื่นๆ ที่ออกมาใช้เพียงเพื่อจะ "ปลดล็อก" อุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่ทันสมัย เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หรือให้การดำเนินการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น รวมทั้งระงับข้อขัดแย้งในกฎหมายหลายฉบับ ที่อาจจะมีผลต่อการทำงาน ที่เป็นการแก้ไข เป็นมาตรการเฉพาะหน้า
          เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศ การเดินหน้าประเทศ มีความต่อเนื่องและต้องเป็นการกระทำโดยสุจริตของเจ้าหน้าที่ด้วย อีกประเด็นหนึ่งก็คือต้องใช้ในการแก้ปัญหาความมั่นคง เพราะว่ามีหลายคน หลายประเภท หลายพวก ที่ไม่ค่อยชอบปฏิบัติตามกฎหมายปกติ กฎหมายอะไรก็ไม่ทำสักอย่าง ผมก็ไม่ทราบจะทำยังไงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่อยากให้มาโทษมาตรา 44 อย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าท่านไม่ทำความผิด มาตราไหนก็ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น
          "ตัวอย่างที่เราใช้ไปแล้ว งานที่คั่งค้าง ในอดีต อาทิเช่น การขอตั้งโรงงาน กว่า 4,000 ราย, การขอใบอนุญาตจาก อย. กว่า 10,000 ราย การขอจดสิทธิบัตรของต่างประเทศ ที่ยื่นขอมา 20 ปีแล้ว กว่า 12,000 ราย เหล่านี้เป็นต้น ค้างคามาได้อย่างไร รัฐบาลนี้เข้ามาก็เข้าไปแก้ไขในทันทีที่ทำได้ เพราะเสียโอกาส เสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้การประกอบธุรกิจในระดับฐานรากเดินหน้าไปได้ด้วย เพราะสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ไปติดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ไม่สนใจไม่เอาใจใส่ไม่กำกับดูแล ก็จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 มาแก้ไขให้สำเร็จ"
          ส่วนมาตรการที่ทำให้เกิดความยั่งยืน ในเรื่องกฎหมายนี้ ก็คือว่าจะต้องมีการออกเป็นกฎหมายในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสมนะครับ หลังจากที่มีมาตรา 44 ไปแล้ว โดยจะต้องให้มีผลบังคับใช้ในเวลาต่อมาอย่างยั่งยืน ซึ่งตอนนี้กำลังทยอยผลักดันเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมาย ทางนิติบัญญัตินะครับ อาจจะต้องใช้เวลานาน พิจารณากัน 3 วาระ บางทีเป็นเดือน หลายเดือน รัฐบาลนี้ได้ผลักดันกฎหมายทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการแล้ว กว่า 500 ฉบับ  วันนี้มีผลบังคับใช้เป็น พระราชบัญญัติ แล้ว กว่า 200 ฉบับ .
          น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลง
          เขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์)
          การพิจารณาให้หรือไม่ให้สิทธิบัตร โดยเฉพาะยา จะต้องมีความละเอียดรอบคอบและดูข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ประกอบ ไม่ใช่อาศัยคำกล่าวอ้างตามเอกสารของผู้ขอยื่นจดแต่เพียงอย่างเดียว และไม่ควรใช้มาตรา 44 มาแก้ปัญหาแบบไม่ถูกต้อง เพราะจะยิ่งสร้างปัญหาเพิ่ม
          จากงานวิจัย "คำขอรับสิทธิบัตรยาที่จัดเป็น evergreening patent ในประเทศไทยและการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น" ของสถาบัยวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่ามีการขอรับสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิบัตรได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องเกิน 20 ปีหรืออาจชั่วชีวิตของยานั้น ซึ่งการขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวถือว่าไม่มีความใหม่ ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น โดยระหว่างปี 2543-2553 หรือช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสิทธิบัตรไม่มีวันตายมากถึงร้อยละ 84 จากคำขอทั้งหมด 2,188 ฉบับ ถ้ามีการใช้มาตรา 44 เร่งอนุญาตคำขอสิทธิบัตร เป็นไปได้ว่า คำขอสิทธิบัตรในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการบริโภคยาและตลาดของประเทศ จากงานวิจัยซึ่งดูรายการยาจำนวน 59 รายการที่มียอดการใช้สูงสุด เมื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านยา พบว่าเป็นคำขอที่จะมีการผูกขาดตลาดตั้งแต่ปี 2539-2571 คิดเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 8,477.7 ล้านบาท.
          "ตัวอย่างที่เราใช้ไปแล้ว งานที่คั่งค้าง ในอดีต อาทิเช่น การขอตั้งโรงงาน กว่า 4,000 ราย, การขอใบอนุญาตจาก อย. กว่า 10,000 ราย การขอจดสิทธิบัตรของต่างประเทศ ที่ย นขอมา 20 ปีแล้ว กว่า 12,000 ราย เหล่านี้เป็นต้น ค้างคามาได้อย่างไร รัฐบาลนี้เข้ามาก็เข้าไปแก้ไขในทันทีที่ทำได้ เพราะเสียโอกาส เสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้การประกอบธุรกิจในระดับฐานรากเดินหน้าไปได้ด้วย เพราะสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ไปติดในเร องไม่เป็นเร อง ไม่สนใจไม่เอาใจใส่ไม่กำกับดูแล ก็จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 มาแก้ไขให้สำเร็จ"


pageview  1205137    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved