HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 06/02/2560 ]
ทารกติดหวานได้ด้วยหรือ


          พฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานในเด็กและวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ระหว่างปี 2557-2558 ด้วยการสุ่มตรวจสุขภาพประชากรไทย 21 จังหวัด จำนวน 19,468 ตัวอย่าง พบว่าเด็กไทยบริโภคน้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มหวานในปริมาณ 1 วันต่อ 1 ครั้งขึ้นไป เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มอายุ 10-14 ปี เพิ่มจาก 19% เป็น 20% อายุ 6-9 ปี เพิ่มจาก 14% เป็น 20% และกลุ่มอายุ 2-5 ปี เพิ่มจาก 10% เป็น 12%
          จะเห็นได้ว่า แนวโน้มคนไทยเริ่ม "ติดหวาน" กันตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะพฤติกรรมการบริโภคหวานมีตั้งแต่ทารก ทำให้เกิดคำถามที่ตามมาคือ "ทารกติดหวานได้ด้วยหรือ?"
          ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการโครงการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า จากข้อสรุปรายงานการศึกษาต่างๆ พบว่า เด็กทารกเริ่มติดหวานได้ตั้งแต่การได้สัมผัสและกลืนน้ำคร่ำ นั่นเป็นเพราะการรับรู้รสอาหารตุ่มรับรสในลิ้นเริ่มมีพัฒนาการตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา ตุ่มรับรสของทารกในครรภ์มารดาจะได้รับการกระตุ้นจากสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของน้ำคร่ำ
          รายงานการศึกษาหลายรายงานพบว่า มารดาที่ทานอาหารหลากหลายรสชาติจะมีส่วนช่วยกระตุ้นประสาทรับรู้ (chemoreceptors) ของเด็กทารกผ่านทางน้ำคร่ำ เด็กยังได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องหลังคลอดผ่านทางน้ำนมมารดา หากเพิ่มสารรสหวานในอาหารของมารดาที่รับประทานทั้งในขณะตั้งครรภ์และขณะให้นมบุตรจะทำให้ทารกรับรู้และคุ้นเคยไปด้วย และชัดเจนมากขึ้นในเด็กทารกหลังคลอดที่เด็กยังได้สารหวาน โดยเฉพาะจากนมผงที่มีการเติมความหวานเพิ่มเติม เด็กจะมีความสุขและพึงพอใจกับรสชาติของนมที่มีรสหวานทำให้เลิกยาก ทั้งยังเพิ่มความต้องการและความถี่ในการทานมากยิ่งขึ้น
          "พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กทารกหลังคลอดมีการเรียนรู้จากพฤติกรรมซ้ำเดิม และจะยังคงปฏิบัติต่อเนื่องหากสิ่งนั้นสร้างความพอใจและมีความสุข สารหวานที่เด็กได้รับจากนมหวานและอาหารเสริมที่มีน้ำตาลอย่างต่อเนื่องซ้ำๆ ย่อมสร้างความพอใจให้กับเด็ก ในที่สุดก็ติดหวานและทานปริมาณมากขึ้น ผลเสียที่ตามมาคือเด็กกลายเป็นโรคอ้วนและฟันผุ"
          ในปี 2015 คณะกรรมการวิชาการด้านโภชนาการและองค์การอนามัยโลก ได้จัดทำร่างข้อแนะนำเรื่องพลังงานจากอาหารใน 1 วัน ต้องมีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ หามาตรการลดการบริโภคน้ำตาลในประชากรของตนลงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันสหพันธ์ทันตแพทย์แห่งโลก (FDI) แนะนำว่าควรมีมาตรการเรื่องฉลาก การควบคุมโฆษณา และมาตรการทางภาษีและราคา รวมถึงการควบคุมน้ำตาลในอาหารเด็กอย่างเข้มแข็ง สำหรับปริมาณน้ำตาลในอาหารเสริมของเด็ก ตามมาตรฐาน CODEX อนุญาตให้มีน้ำตาลในอาหารเสริมเด็กกลุ่ม cereal based food ไม่เกิน 5 กรัม/พลังงาน 100 กิโลแคลอรี ขณะที่องค์การอนามัยโลกเสนอแนะไม่เกิน 2.5 กรัม/พลังงาน 100 กิโลแคลอรี ซึ่งแต่ละประเทศสามารถดำเนินการได้เองตามนโยบาย ขณะที่การประกาศกระทรวงสาธารณสุขของไทย ฉบับที่ 158 เรื่องอาหารเสริมเด็กไม่ได้กำหนดปริมาณน้ำตาลเอาไว้ ทำให้แม่และผู้เลี้ยงเด็กอาจไม่ทราบปริมาณน้ำตาลที่มีในอาหารใช้เลี้ยงลูกตัวเองและทำให้เด็กติดรสหวานได้
          ที่ผ่านมาเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานได้ทำการสำรวจน้ำตาลในอาหารเสริมเด็กปีละ 1 ครั้ง พบว่า ยังไม่พบอาหารเสริมที่มีน้ำตาลเกินกว่า 5 กรัม/พลังงาน 100 กิโลแคลอรี ตามมาตรฐาน CODEX และพบอาหารเสริมที่มีน้ำตาลเกิน 2.5 เพียง 2 ชนิด และไม่มากเกิน แต่พบว่าปริมาณน้ำตาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับจุดทศนิยม ในปี 2560 จึงมีการสำรวจปริมาณน้ำตาลในอาหารเสริมทารกและเด็กเล็กในตลาดของไทยอีกครั้งเพื่อเสนอแนะให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.กำหนดมาตรฐานปริมาณน้ำตาล อย่างน้อยต้องไม่เกินมาตรฐาน CODEX เพื่อเป็นแนวทางป้องกันการติดหวานตั้งแต่ทารก
          นั่นเป็นเพราะ การกินอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น โรคอ้วน เพราะน้ำตาลให้พลังงานมากรองจากไขมัน และน้ำตาลยังส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ฟันผุ ภาวะอ้วน เบาหวานชนิดที่ 2 มะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย.


pageview  1205944    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved