HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 01/02/2560 ]
รมว.สธ.หนุน ม.อุบลราชธานี เดินหน้าปฏิรูปหลักสูตรสร้าง "บุคลากรสุขภาพ" รุ่นใหม่ แก้ไขปัญหาสาธารณสุขในยุคโลกาภิวัฒน์

  วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลราชธานี จับมือ ศสช. จัดสัมมนา "การปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21" ระดมความคิดสร้างโมเดลการเรียนการสอนของบุคลากรสุขภาพรูปแบบใหม่ ให้ทันและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์ เน้นใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อน คาดนำมาใช้จริงปี 2561
          วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ม.อบ.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.) จัดงานสัมมนา "การปฏิรูปสถาบันสู่การพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21" ณ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อบ. โดย ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ทรัพยากรมนุษย์ที่ระบบสุขภาพต้องการในยุคศตวรรษที่ 21" ซึ่ง นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย ผศ.ดร.อินทิรา ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม ม.อบ. และ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อบ. ให้การต้อนรับ ร่วมด้วย นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธาน ศสช.,  ศ.พญ.วณิชา  ชื่นกองแก้ว เลขาธิการ ศสช. และเครือข่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภูมิภาคกว่า 300 คน เข้าร่วมงาน  ณ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อบ. เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา
          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. กล่าวว่า ภาพรวมของระบบสุขภาพและการสาธารณสุขระดับโลกหรือแม้แต่ในประเทศไทยในปัจจุบันเกิดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาจากหลายปัจจัยทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โรคอุบัติใหม่ หรือแม้แต่ภัยพิบัติ ฯลฯ โดยปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ ภาครัฐจึงไม่สามารถออกนโยบายเพื่อตั้งรับเพียงอย่างเดียวได้ แต่หากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบสุขภาพภายในประเทศให้ทันและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องเริ่มจากการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรสุภาพ ที่ถือเป็นฐานรากของการพัฒนาระบบสุขภาพทั้งปวง โดยการปรับเปลี่ยนต้องทำทั้งระบบ ตั้งแต่รูปแบบ วิธีการ และเนื้อหาสาระของการศึกษา รวมถึงกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา ที่สามารสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตและการปฏิบัติงานจริงในระบบสุขภาพ โดยไม่ทำให้ความรู้ด้านเทคนิคและวิชาการบกพร่อง ตลอดจนการจัดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรสุขภาพในด้านต่างๆ  ให้พร้อมต่อการทำงานเป็นทีมอย่างกลมกลืนและเข้มแข็ง ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ พีเพิล เอ็กเซลเลนซ์ ของกระทรวงสาธารณสุข และยุทธศาสตร์โลกว่าด้วยการพัฒนากำลังคน ค.ศ. 2030
          "ขอชื่นชมในความร่วมมือเพื่อบูรณาการระบบการเรียนการสอนของบุคลากรสุขภาพให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ดังที่ เครือข่ายสุขภาพอำเภอเมืองอุบลราชธานี โรงพยาบาลชุมชน และอีกหลายพื้นที่ ให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นับต่อจากนี้ จึงอยากเห็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รวมถึงคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ ร่วมมือกันในลักษณะเช่นนี้อย่างเต็มที่ และต่อยอด
          ขยายผลการประชุมสัมมนาในวันนี้ไปยังเครือข่ายสุขภาพอำเภอ เขตสุขภาพที่ 10 ทั้งเขต และทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมาย 1 เครือข่ายสุขภาพอำเภอ ต่อ 1 เขตพื้นที่ เพื่อร่วมกันสร้างกำลังคนด้านระบบสุขภาพให้เปี่ยมคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอต่อการให้บริการอย่างทั่วถึงแก่ประชาชน" รมว.สธ. ระบุ
          ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อบ. กล่าวว่า ระบบการเรียนการสอนดังกล่าวของไทยในทุกวันนี้ ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ฉะนั้นทาง วิทยาลัยฯ จึงตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนบุคลากรด้านสุขภาพ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสถาบัน การเปิดเวทีสัมมนาในครั้งนี้จึงเชิญผู้รู้ บุคลากรด้านสุขภาพและสาธารณสุข ภาคีเครือข่าย มาเปิดโลกทัศน์และช่วยกันระดมสมองสร้างโมเดลการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่เน้นการผลิตบุคลากรสุขภาพในแบบเชื่อมโยงทั้งระบบ ตรงกับความต้องการของตลาด รอบรู้เรื่องเวชศาสตร์ชุมชนว่าในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพและสาธารณสุขอย่างไร พร้อมหาวิธีรับมือแก้ไข และต้องสามารถคิดค้นนวัตกรรมการทำงานที่เชื่อมโยงกับสถานพยาบาลทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์จนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือในหน่วยแพทย์ทุรกันดาร ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ รมว.สธ. และวัตถุประสงค์เดิมของการมีคณะแพทยศาสตร์ รวมถึงสหวิชาชีพต่างๆ ด้านสุขภาพและการสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยภูมิภาค ที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
          "การปฏิรูปในข้างต้นต้องอาศัยระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี จึงต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ โดยทางวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนหน่วยกิตและวิชาที่ต้องลงพื้นที่เพื่อศึกษาและปฏิบัติให้มากขึ้น จากเดิมมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 10 รวมถึงการพัฒนาด้านอื่น ๆ หากทำสำเร็จคิดว่าจะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระดับชาติที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เช่น การขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข ความไม่เป็นธรรมของระบบสุขภาพ เป็นต้น" นพ.นิรันดร์ กล่าว.
          ขณะที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.) กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะพัฒนาระบบสุขภาพให้บรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) จำเป็นต้องมีกำลังคนด้านสุขภาพที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอต่อแผนกำลังคนด้านสุขภาพในอีก 10  ปีข้างหน้า (2560-2569) ที่ภาครัฐ คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งวางยุทธศาสตร์ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากการปฏิรูปตั้งแต่ระบบฐานรากคือระบบการเรียนการสอน ยังต้องเร่งพัฒนาทีมสุขภาพขนาดเล็กอย่าง "หมอครอบครัว" ที่มาจากการบูรณาการการทำงานของกลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพเข้าไว้ด้วยกันให้เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ชุมชน และการจะดำเนินการได้นั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลชุมชนเป็นหลัก ที่จะเปิดพื้นที่ให้นิสิตและนักศึกษาด้านสุขภาพลงไปเรียนรู้และปฏิบัติจริง ในด้านหนึ่งยังเป็นการช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลน แพทย์ พยาบาล ของโรงพยาบาลชุมชนอีกด้วย


pageview  1205066    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved