HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 15/04/2555 ]
พลังของหนุ่มสาวคือพลังสร้างชาติ

 หลังผ่านพ้นภาวะน้ำท่วมใหญ่ คนไทยทั้งประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงอย่างเอาไม่อยู่ ค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นจนต้องรัดเข็มขัดกันเอวกิ่ว ซึ่งดูจะสวนทางกับค่าแรงแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนต้อนรับบัณฑิตใหม่ 15,000 บาทต่อเดือน ตัวเลขที่ดูสวยหรู แต่แท้จริงก็ยังไม่แตกต่างจากเดิม แถมยังลากเอาชาวบ้านที่ไม่มีเงินเดือน ไม่ได้อยู่ในกลไกของแรงงาน เช่น พวกแรงงานนอกระบบหรือแรงงานสตรี เกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน ต้องเข้าไปอยู่ในวังวนของค่าครองชีพสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
          คนงานที่ทำงานในโรงงานจำนวนมากนั้นมักเป็นแรงงานหนุ่มสาวจากภาคชนบทส่วนหนึ่งมาทำงานเมื่อว่างเว้นหน้านาส่วนหนึ่งมาศึกษาเล่าเรียนเมื่อจบแล้วก็อยู่ทำงานที่กรุงเทพฯ ต่อ นานทีหรือสงกรานต์แต่ละปีถึงกลับบ้าน เราจะเห็นว่าโครงสร้างของสังคมไทยในเวลานี้มีคนชุมนุมแออัดในเมืองหลวงหรือตามเมืองอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากจนเกิดภาวะแวดล้อมเป็นพิษ แต่ในชนบทกลับมีแต่เด็กและคนแก่ที่พึ่งตนเองแทบไม่ได้
          เมื่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนเช่นนี้ เราลองหันมาทบทวนวิถีการดำรงชีวิตของเราพวกหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ปรับวิถีการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับปรัชญาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปช่วยกันพลิกฟื้นผืนนาตัวเองที่มีอยู่ ลองเริ่มหันมาใช้ชีวิตที่สงบสัมผัสกับไอดินกลิ่นฝนลมร้อน กลิ่นโคลนสาบควายบ้าง มันก็เป็นบรรยากาศแบบชนบทเป็นแหล่งความทรงจำในวัยเด็ก การกลับถิ่นฐานบ้านเกิดไม่ได้หมายความว่าต้องมาอยู่แบบเหงาๆ ตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะยุคนี้การติดต่อสื่อสารการรับข่าวสารมันไปถึงทุกซอกมุมของบ้านเราแล้ว มันไม่ได้ขัดสนเหมือนเมื่อก่อน
          นอกจากการที่เราจะนำเอาวิชาความรู้ไปพลิก ฟื้นผืนดินให้เกิดประโยชน์ต่างๆ แล้ว ก็ยังสามารถพัฒนาชุมชนของตนเองได้ บางคนเรียนจบขั้นปริญ ญาโทหรือปริญญาเอก กลับไปเป็น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็มี แตกต่างจากสมัยก่อนคนที่เรียนจบมามักจะไปรับราชการหรือเป็นนักวิชาการ แต่พอมายุคนี้แล้วก็มีคนเอาความรู้ที่ร่ำเรียนมา ไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิดให้ดีขึ้น กลับไปเป็นผู้นำชุมชน ไปเป็นอาสาสมัครช่วยสอนและให้ความรู้แก่ชาวบ้านหลังว่างเว้นจากฤดูกาลทำนา เช่นนี้เราก็ได้คนมีการศึกษาไปเป็นกำลังสำคัญหลักในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น สมัยนี้รัฐบาลก็มีการจัดตั้งกองทุนชุม ชน กองทุนหมู่บ้านขึ้น หรือแม้แต่ อบต. ซึ่งมันเป็น การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ดังนั้นหนุ่มสาวทั้ง หลายก็ฝึกหัดเขียนโครงการทำโครงการของบประ มาณมาทำกิจกรรมเพื่อท้องถิ่นของตนเองแล้วช่วยกันประเมินผล แก้ปัญหาร่วมกันแบบมีส่วนร่วม เช่น วิเคราะห์ว่าชุมชนที่เราอยู่อาศัยนั้นมีปัญหาอะไรที่ต้องได้รับการแก้ไขพัฒนา ก็เป็นรูปแบบในการแก้ปัญหาโดยชุมชนโดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุน
          ในเวทีระดับชุมชนนั้นมักจะขาดแคลนผู้นำและมีความรู้ระบบการบันทึกและจัดเก็บเอกสารที่เป็นประโยชน์น้อย แต่ถ้ามีการนำเอาความรู้นั้นกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเองก็จะกลายเป็นคนที่โดดเด่นขึ้นมา ช่วยให้การทำงานลื่นไหลคล่องแคล่วติดต่อประสานงานกับอำเภอหรือจังหวัดก็คล่องตัวไปหมด
          ความมีชีวิตชีวาของคนหนุ่มคนสาวจะได้ช่วยสร้างสีสันให้กับชนบท พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และเด็กๆ ที่เคยถูกทิ้งร้างให้เฝ้าบ้านก็จะได้อบอุ่น ไม่เงียบเหงาหัวใจ ทุ่งนาที่เคยแต่รอทำนาหน้าฝน อาจจะเห็นการเพาะปลูกใหม่ๆ มีเทคโนโลยีในระดับชุมชนใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพของชุมชน ซึ่งสามารถประสานความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคประจำจังหวัดนั้นๆ ให้ช่วยพัฒนาปรับปรุงได้ เพราะนักศึกษาระดับเทคนิคในต่างจังหวัดมีความสามารถและเก่งๆ ทั้งนั้น
          หนุ่มสาวทั้งในภาคแรงงานอุตสาหกรรม แรงงานนอกระบบ รวมถึงกลุ่มปัญญาชนทั้งหลาย ถ้าหันกลับไปทำงานในชุมชนและท้องถิ่นกันมากขึ้น ช่วยกันพัฒนาในระดับหมู่บ้านของตนเอง ก็โยงเป็นโครงข่ายของอำเภอ จังหวัด ภูมิภาค และประเทศ ในที่สุดก็เกิดความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาทุกหย่อมหญ้าในประเทศอย่างเท่าเทียม ไม่มีรากหญ้า ไม่มีอำมาตย์ และแนวคิดคิดที่จะให้เกิดความแตกแยก
          ปัจจุบันมีทั้งกองทุนหมู่บ้าน มีโอท็อป ที่จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาได้อย่างโอท็อปก็ไม่แข่งขันกันอย่างปัจจุบัน แต่อาจจะหันไปทำพลังงานทดแทนไบโอดีเซลขึ้นใช้ในระดับชุมชน อำเภอ และหน่วยงานราชการในท้องถิ่นก็ต้องกำหนดให้ใช้พลังงานทดแทนในท้องถิ่นของตนเอง เมื่อทำหลายๆชุมชนเข้า ก็ย่อมมีความเข้มแข็งเกิดขึ้น พลังงานทดแทนไบโอดีเซลก็ใช้วัสดุทางการเกษตรที่มีมากมายในท้องถิ่นนั้นๆ มาเป็นวัตถุดิบ ไม่ต้องไปหาข้ามจากท้องถิ่นอื่นก็เป็นกระบวนการส่งเสริมในชุมชน
          ความเป็นหนุ่มสาวที่อ่อนวัย อ่อนประสบ การณ์ อาจทำให้พวกเขาก้าวพลาดก้าวผิด แต่ ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องให้การสนับสนุนและโอบอุ้มให้พวกเขาลุกขึ้นมาให้ได้ เมื่อนั้นก็จะเป็นการสร้างพลังแรงงานและสติปัญญา ความมีชีวิตชีวาของพวกเขาให้เกิดประโยชน์ ไม่เช่นนั้นสง กรานต์นี้เราก็จะต้องมาคอยนับตัวเลขการเสียชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ไร้สาระ เอาแต่กินเหล้าเมาและตายในที่สุด โดยไม่ก่อเกิดประโยชน์อันใด
          สงกรานต์ปีนี้ คนหนุ่มสาวกลับไปเยี่ยมบ้าน ก็ตรองดูสักนิด ผืนดินบ้านเกิดยังรออยู่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก้าวสู่วัยชราภาพมาก ลูกหลานเล็กๆ ที่เติบโตขึ้นทุกวัน ถ้าตัดสินใจวันนี้ยังได้อยู่กับครอบครัวที่อบอุ่น ยังได้เลี้ยงดูลูกหลานให้เติบโต พลังของคนหนุ่มสาวจึงมีความหมายและสำคัญไม่เพียงแค่สำคัญในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อประเทศชาติและการสร้างความเข้มแข็ง ความสามัคคีของชาติในอนาคตด้วย.


pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved