HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 02/01/2557 ]
7 วันอันตราย แก้ปลายเหตุ
   นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับชี้ตัวเลขเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ สะท้อนมาตรการเฝ้าระวังของภาครัฐเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
          เข้าสู่วันสุดท้ายของมาตรการเฝ้าระวัง 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว ซึ่งสถิติอุบัติเหตุบนถนนสะสม 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2556-1 มกราคม 2557 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้งว่า เกิดอุบัติเหตุรวมแล้ว กว่า 2,891 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 20 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 334 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 2 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,041 คน เพิ่มขึ้น 5 คน เฉพาะวันที่ 1 ม.ค.วันเดียวซึ่งเป็นวันที่มีประชาชนเดินทางกลับจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพฯ มากที่สุด เกิดอุบัติเหตุ 536 ครั้ง เพิ่มขึ้น 3 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิต 68 ราย ลดลง 10 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บมี 539 คน ลดลง 44 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา คิดเป็นร้อยละ 51.49 ของสาเหตุทั้งหมด
          สิ่งที่น่าตกใจก็คือ สถิติการเสียชีวิตตลอด 6 วันนั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อครบ 7 วัน ทั้งที่มีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนและตั้งด่านสกัดจับผู้ทำผิดกฎจราจรจากทางภาครัฐ และที่สำคัญเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงเป็นต้นเหตุหลักของการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาอีกด้วย
          นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ผู้ทำงานด้านการรณรงค์งดดื่มสุราขณะขับรถ มองว่า มาตรการเฝ้าระวังของภาครัฐในช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลต่างๆ เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะมันไม่มีทางช่วยลดสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนตลอดทั้งปีได้เลย อาจช่วยลดไปได้บ้างเฉพาะแค่ในช่วง 7 วัน จากเดิมเมื่อหลายปีก่อนที่ไม่มีการรณรงค์ลักษณะนี้ มียอดเสียชีวิตถึง 700 ราย แต่พอมีมาตรการก็ลดลงเหลือไม่เกิน 300-400 ราย
          "แต่ถามว่าตลอดทั้งปีซึ่งมี 365 วัน เราให้ความสำคัญกับวันอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน ถ้าภาครัฐไม่ว่ารัฐบาลใดมีความจริงใจกับการแก้ปัญหานี้ แนะนำให้กำหนดมาตรการเป็น "365 วันอันตราย" เลยจะดีกว่า เนื่องจากการรณรงค์ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเพียงแค่ 7 วันในช่วงปีใหม่ และอีก 7 วันในช่วงสงกรานต์นั้นยังไม่เพียงพอ และขณะนี้สถิติในช่วงเทศกาลและวันธรรมดานับวันก็ยิ่งใกล้กันเข้าไปทุกทีแล้ว"
          นายแพทย์แท้จริงกล่าวว่า ส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลที่เพิ่มขึ้นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากจำนวนรถที่เพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล ที่เข้ามาเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น อีกทั้งความคิดที่ว่าเมื่อถูกตำรวจจับได้ถือเป็นความซวยของตัวเองนั้นเป็นความคิดที่น่ากลัว เพราะจะสร้างบรรทัดฐานในจิตใจตนเอง ว่าตนเองไม่ได้มีความผิดอะไรที่ทำผิดกฎจราจร สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ซึ่งสาเหตุการตายที่เป็นต้นเหตุของทุกๆ ปีก็ยังหนีไม่พ้นการดื่มสุราแล้วขับรถ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องจริงจังให้มากกว่านี้ ควรลงมารับผิดชอบชีวิตของประชาชนที่เสียชีวิตในช่วง 7 วันที่มาก กว่า 300-400 ราย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่
          สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ในการตรวจจับผู้กระทำความผิดยังอ่อนแออยู่มาก พบว่ามีการประนีประนอมให้แก่ผู้ทำความผิดอยู่ตลอด คือสำหรับสังคมไทยนั้นโอกาสถูกจับมีน้อย แต่โอกาสรอดมีสูง และถ้าหากใครมีเงิน ทุกคดีก็จบได้เพียงไม่นาน ทำให้ประชาชนไม่กลัวกฎหมาย
          "เหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ผมเชื่อว่าจะยังคงเป็นต้นเหตุหลักของการสูญเสียในอนาคตไปอีกนาน ตราบที่ผู้ขับขี่ยังไร้จิตสำนึกต่อผู้อื่นและเจ้าหน้าที่รัฐยังเฉยเมยต่อปัญหาใหญ่โตเช่นนี้ การมีคนตายเกือบ 400 คนในเวลา 7 วันไม่ใช่เรื่องล้อเล่นเลย รัฐบาลจึงต้องปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังมากขึ้น เช่น กำหนดเลยว่าหากมีคนตายมากกว่า 300 ราย ผบ.ตร.ต้องโดนปลด รวมถึงตัวบทกฎหมาย ที่ต้องเพิ่มโทษปรับและจำคุกให้เข้มข้นขึ้น เพราะปัจจุบันปรับแค่ 5,000 บาท และโทษจำคุกแค่รอลงอาญา ต่างจากญี่ปุ่นที่มีโทษปรับคดีเมาแล้วขับ 1 แสนบาท มาเลเซียและสิงคโปร์ปรับ 3-4 หมื่นบาท และทั้ง 3 ประเทศมีการจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ดังนั้นอยากเรียกร้องให้รัฐบาลชุดต่อไปลงมากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นนายกฯ คนไหนออกมาประณามคนเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตในช่วงเทศกาลแม้แต่คนเดียว" เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับกล่าว
          นายแพทย์แท้จริงยังทิ้งท้ายอีกว่า ในฐานะที่ทำงานด้านนี้มานาน ทุกเทศกาลจะพบเห็นเสมอว่าการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ยังหย่อนยาน ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่น้อย ประกอบกับผู้ขับขี่ไม่กลัวกฎหมายบ้านเมือง ไร้จิตสำนึก คอยฝ่าฝืนอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดความสูญเสียมากมายขนาดนี้ ส่วนตัวมองว่าสถิติที่รัฐประกาศออกมานั้นยังไม่ใช่สถิติที่แท้จริง เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำการตรวจแอลกอฮอล์ครบทุกคดี อีกทั้งยังมีผู้ที่รอดจากการตรวจจับแล้วไปประสบอุบัติเหตุในตรอก ซอก ซอยอีกจำนวนมากในหลายจังหวัด เชื่อว่าหากตรวจจริงๆ อาจพบสถิติการเมาแล้วขับ รวมถึงการสูญเสียมากกว่านี้แน่นอน
          นอกจากนี้ อีกสาเหตุของการสูญเสียคือ การกำหนดวันหยุดเทศกาลปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2556 ถึง 1 มกราคม 2557 ถือว่าเสี่ยงต่อการสูญเสียจากอุบัติเหตุมาก เพราะประชาชนมักอยู่ฉลองเสร็จในคืนวันปีใหม่ก็ต้องรีบกลับเพื่อมาทำงานให้ทันในเช้าวันที่ 2 ม.ค.ของวันถัดไป ทำให้อาการมึนเมา ง่วงนอนและเหนื่อยล้า ยังมีอยู่ตลอดการเดินทางในช่วงกลางดึกของคืนวันปีใหม่ รัฐบาลอาจเปลี่ยนวันหยุดเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุได้อีกทางเช่นกัน และอยากย้ำเตือนประชาชนอีกครั้งว่าสุราคือต้นเหตุของความสูญเสียที่แท้จริง ไม่ว่าอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทก็ตาม.

pageview  1205892    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved