HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 25/12/2556 ]
งดดื่มแอลกอฮอล์เมื่อท้องว่าง ทริกฉลองปาร์ตี้ไร้อาการเมาค้าง
 อาการ "เมาค้าง" เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อย หลังงานปาร์ตี้สุดเหวี่ยง โดยเฉพาะอาการปวดอย่างรุนแรง อาเจียน หรือบางครั้งลุกขึ้นเดินแทบจะไม่ไหว หรือแม้แต่อาการพื้นห้องหมุนคว้าง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นล้วนมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เกินร่างกายจะรับได้ หรือแม้แต่บางรายที่ดื่มเพียงเล็กน้อย ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยแอลกอฮอล์ได้ดี ดังนั้นเพื่อรับมือกับอาการแฮงก์โอเวอร์ในช่วงปาร์ตี้ส่งท้ายปี นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์อายุรกรรมสมอง คลินิกเครือ รพ.กล้วยน้ำไท ได้ออกมาแนะนำในการรับมือกับอาการเมาค้างไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะคุณสาวๆ ที่เมาง่ายกว่าคุณหนุ่มๆ อันเนื่องมาจากในร่างกายมีน้ำน้อย ประกอบกับแอลกอฮอล์จะละลายได้ดีในน้ำ ดังนั้นจึงทำให้ความเข้มข้นในเลือดสูงทันทีที่ดื่มน้ำเมา
          นพ.สุวินัยอธิบายว่า "อาการเมาค้างเป็นอาการที่คล้ายกับเพิ่งฟื้นไข้ เพราะร่างกายขาดน้ำทำให้เซลล์สมองเหี่ยวลง แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการขับของเสียในร่างกายในรูปของปัสสาวะ พร้อมกันนั้นยังขับสารอาหารสำคัญของร่างกายออกมาด้วย ทั้งแมกนีเซียม โปแตสเซียม และวิตามินบี 1, 6 ฯลฯ เกิดการคั่งของสารแอลดีไฮด์ซึ่งทำลายสมองและระบบประสาท เกิดพิษในร่างกายจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินที่ร่างกายจะสามารถรับได้ และทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำ รบกวนการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนิน ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว อาจจะเป็นได้ทั้งปวดหนึบๆ หนักๆ, ปวดแบบจี๊ด
          หรือปวดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ และยิ่งปวดมากขึ้นถ้ามีการเคลื่อนไหวร่างกาย, คลื่นไส้ มึน อ่อนเพลีย งุนงงสับสน นอนไม่หลับ คอแห้ง ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ตัวเย็น กล้ามเนื้อเกร็ง หรืออาจเป็นตะคริวร่วมด้วย ปวดท้อง เบื่ออาหารลิ้นไม่รับรส นอนไม่ได้ ลืมตาไม่ขึ้น, หมดแรง ลุกไม่ขึ้น แม้กระทั่งการเดินก็ไม่ได้คล่องแคล่วตามปกติ พะอืดพะอมแต่ไม่อาเจียน แล้วอาจเป็นต่อเนื่องตลอดทั้งวัน หรือในบางรายอาจมีท้องเสีย, ความดันเลือดตัวบนสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออกมากขึ้น หรือมีอาการบ้านหมุนร่วมด้วย ยิ่งในคนที่เป็นโรคหัวใจจะเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตง่ายกว่าคนปกติ"
          สำหรับคุณสาวๆ คนไหนไม่อยากเป็นสาวแฮงก์ คุณหมอสุวินัยระบุว่า ก่อนไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ, ไม่ควรไปขณะกำลังหิว และไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมไปก่อน เพราะจะทำให้ยิ่งดื่มมากขึ้น พยายามรับประทานผักที่มีกรดโฟลิกที่จะทำหน้าที่ฟื้นฟูเซลล์ที่จะถูกทำลายโดยแอลกอฮอล์ และไฟเบอร์สูง เช่น กะหล่ำปลี บร็อกโคลี ฯลฯ หรือทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต, โปรตีนที่มีไขมันดีรองท้องไว้ก่อนเพื่อช่วยชะลอการดูดซึมของแอลกอฮอล์ และขณะที่ดื่มควรทำให้ร่างกายลดการดูดซึมของแอลกอฮอล์ และขับออกทางปัสสาวะด้วยการดื่มน้ำมากๆ และระวังไม่ให้ท้องว่างโดยการรับประทานกับแกล้ม เลือกผสมน้ำแทนการผสมโซดา เพราะโซดาจะทำให้การดูดซึมไปสู่สมองเร็วขึ้น และควรรับประทานวิตามินบี 6 เพิ่มระหว่างดื่มช่วยลดอาการเมาค้างลงได้ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้การทำงานของวิตามินบี 6 ลดลง ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน เลือกเหล้าที่มีดีกรีน้อย หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หลายชนิดสลับกันไป-มา
          ส่วนการปฏิบัติตัวเองหลังปาร์ตี้นั้น นพ.สุวินัยแนะนำให้คุณสาวๆ "ก่อนจะเข้านอนควรดื่มน้ำ น้ำส้ม หรือน้ำมะนาวจำนวนมาก เพื่อขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย และป้องกันสมองเกิดการหดตัวจากการที่ร่างกายดึงน้ำจากสมอง เพราะวิตามินซีจะช่วยเร่งการเผาผลาญแอลกอฮอล์ในตับ หรือดื่มน้ำวุ้นจากใบว่านหางจระเข้ เพราะช่วยสลายพิษในตับ สำหรับอาหารเช้าวันรุ่งขึ้นควรเลือกอาหารประเภทโปรตีน และดื่มน้ำหวาน, น้ำผึ้งผสมมะนาว เพราะแอลกอฮอล์ทำให้สมองขาดน้ำตาล
          และควรดื่มเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีสูง เพื่อช่วยลดปริมาณสารตกค้างที่มีอยู่ในตับ จิบน้ำอุ่นๆ ผสมมะนาว ไม่ควรดื่มกาแฟ เพราะกาแฟจะทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น ที่สำคัญหลีกเลี่ยงอาหารประเภทมันๆ เพราะอาจจะทำให้รู้สึกอยากอาเจียน อย่างไรก็ตามการเช็ดหน้าด้วยน้ำเย็นก็สามารถช่วยลดอาการเมาค้างและปวดศีรษะได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น และพบว่ามีการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียนมาก ตัวเย็น ความดันโลหิตต่ำ ท้องเสียไม่หยุด ใจสั่น อ่อนเพลียนานเกิน 1 วัน ควรรีบเข้าพบแพทย์เพราะอาจเกิดอาการขาดน้ำได้" การดื่มสุราอาจทำให้สติสัมปชัญญะลดลง ดังนั้นการงดปาร์ตี้แอลกอฮอล์ได้ก็จะดีที่สุด คุณหมอกล่าว.
 
          บรรยายใต้ภาพ 
          นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์
          ผักใบเขียวอย่างบร็อกโคลีและกะหล่ำปีที่มีไฟเบอร์และกรดโฟลิกสูง จะช่วยฟื้นฟูเซลล์ที่ถูกทำลายจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้
          รองท้องด้วยอาหารมื้อเบาๆ ช่วยลดอาการเมาค้างได้จ้ะ

pageview  1205892    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved