HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 23/12/2556 ]
'สะเก็ดเงิน'โรคไม่ติดต่อ สงบลงได้ด้วยคนรอบข้าง
 "โรคสะเก็ดเงิน" หรืออาการผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดงและลอกเป็นขุย แถมยังเป็นๆ หายๆ ไม่เพียงสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ป่วย แต่ยังสร้างความน่ารังเกียจให้กับรอบข้างเป็นอย่างมาก ซึ่งสาเหตุหลักของโรคนั้นเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วขึ้นกว่าปกติ และทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมีความหนากว่าผิวหนังปกติ ขณะเดียวกันการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างผิดปกติต่อองค์ประกอบบางอย่างของผิวหนัง ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคเช่นเดียวกัน งานนี้ ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนวิธีปฏิบัติตัวในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคผิวหนังดังกล่าว
          คุณหมอให้ข้อมูลว่า "โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังอีกโรคหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย พบโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรทั่วโลก มีลักษณะสำคัญคือ เป็นปื้นนูนแดงปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน ปื้นแดงนี้มักพบบริเวณข้อศอก เข่า หลังส่วนล่าง และหนังศีรษะ แต่อาจพบผื่นที่ผิวหนังบริเวณใดของร่างกายก็ได้รวมทั้งที่เล็บ ในกรณีที่ผื่นสะเก็ดเงินเกิดขึ้นในบริเวณข้อพับต่างๆ เช่น ขาหนีบ รักแร้ อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก และใต้ฐานเต้านมในผู้หญิง ก็มักจะมีลักษณะต่างจากลักษณะข้างต้น คือผื่นจะมีสะเก็ดค่อนข้างน้อย หรือไม่มีเลย และพื้นผิวค่อนข้างมัน
          โดยทั่วไปผื่นสะเก็ดเงินมักไม่พบที่บริเวณใบหน้า นอกจากนี้เมื่อผื่นสะเก็ดเงินหายแล้ว จะไม่มีรอยแผลเป็นหลงเหลืออยู่ และน้อยรายมากที่จะทำให้เกิดผมร่วง อย่างไรก็ดี อาจมีร่องรอยเปลี่ยนแปลงของสีผิวหนังในบริเวณที่เคยเป็นผื่นสะเก็ดเงินมาก่อนหลงเหลืออยู่ แต่ก็จะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนการเกิดโรคนั้นปัจจัยเรื่องของพันธุกรรมก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากพบว่ามีเพียงสมาชิกในบางครอบครัวเท่านั้นที่ป่วยเป็นโรคนี้ และพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน จะมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คนในเครือญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้เช่นเดียวกัน"
          สาเหตุเกิดการผื่นนั้น นพ.ประวิตรอธิบายว่า "มักเริ่มจากมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น ได้แก่ อารมณ์เครียด การบาดเจ็บของผิวหนัง (รอยฉีกขาด รอยแกะ รอยเกา เป็นต้น) อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อ สเตร็ปโตคอคคัส การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน (ผื่นมักเริ่มเกิดในช่วงแตกเนื้อหนุ่มหรือเป็นสาว) และยาบางชนิด (พบได้น้อย) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น"
          ขณะที่แนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงินนั้น คุณหมอบอกว่า "ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่น หากโรคผิวหนังดังกล่าวมีความรุนแรงน้อย หมายถึงผื่นน้อยกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย (ผื่นขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือเท่ากับพื้นที่ประมาณ 1%) ให้การรักษาโดยใช้ยาทาเป็นอันดับแรก แต่ถ้าหากอาการของโรคมีความรุนแรงมาก หมายถึงผื่นมากกว่า 10% ของพื้นที่ผิวทั่วร่างกาย พิจารณาให้การรักษาโดยใช้ยารับประทาน หรือฉายแสงอาทิตย์เทียม หรืออาจใช้ร่วมกันระหว่างยารับประทานและฉายแสงอาทิตย์เทียมครับ"
          นพ.ประวิตรกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่หากทิ้งอาการของโรคไว้โดยไม่ได้รับการรักษา กระทั่งคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวว่า "หากใครก็ตามที่เป็นโรคสะเก็ดเงินแล้วไม่ได้รับการรักษา โดยทั่วไปก็ไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นถ้าหากโรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นที่บริเวณหนังศีรษะ ในบางกรณีอาจนำไปสู่การสูญเสียเส้นผมได้ ในทางกลับกันหากโรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นที่ข้อต่างๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อมือและข้อเข่า ก็อาจมีอาการข้ออักเสบ และหากไม่ได้การรักษาที่เหมาะสม ก็จะนำไปสู่การทำลายข้อต่ออย่างถาวรได้ ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น โดยทั่วไปโรคสะเก็ดเงินจะมีอาการดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ แต่ในบางกรณีผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลง ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย"
          เรื่องการให้ความรู้ผู้ป่วยและญาติมีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการปรับทัศนคติของโรคว่า แท้จริงแล้วโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ และสามารถควบคุมโรคให้สงบลงได้ เพียงผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ซึ่งได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนน้อย และการดื่มสุรา รวมถึงยาบางชนิดสามารถกระตุ้น อีกทั้งการได้รับกำลังใจ แน่นอนว่าอาการของโรคจะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด.

pageview  1205892    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved