HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 25/11/2556 ]
ใช้เสียง'หยุดมนุษย์หื่น'บนรถเมล์หญิงและเด็กต้องรู้เท่าทัน 7 กลอุบาย
   "ความไม่รู้" กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ ยังคงไม่จางหายไปจากสังคมไทย โดยเฉพาะการต้องอยู่พื้นที่สาธารณะที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ อย่างบน "รถเมล์-รถโดยสาร" ขณะเดียวกันเรื่องการ "นิ่งเฉย" ไม่กล้าพูด ก็กลายเป็นปัจจัยผนวกให้ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบเรื่องของการทำงาน แต่ยังกระทบกระเทือนจิตใจ หรืออาจถูกลวนลาม จนกระทั่งนำไปถึงการ "ข่มขืน" ได้ในที่สุด หากผู้ถูกกระทำและผู้ที่รอบข้างนิ่งเฉย ปล่อยปละละเลยโดยคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง
          เนื่องในวันที่ 25 พ.ย.ของทุกปีนั้น ถูกกำหนดให้เป็นวัน "ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก" องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จึงได้จับมือ องค์กรยูเอ็นวีเมน ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก รวมถึงมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร โดยการสนับสนุนของผู้ใหญ่ใจดีอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดโครงการ "รถเมล์ปลอดภัย" เพื่อขจัดภัยคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กบนรถโดยสารประจำทาง จำนวน 3,509 คัน หรือเป็นการช่วยกันคลี่พรม สะท้อนปัญหาการคุกคามทางเพศ ไปสู่การรับรู้ในวงกว้างให้ผู้หญิงทุกเพศทุกวัย เพราะเชื่อว่าคุณสาวๆ หลายคนอาจพบเจอกับกรณีเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
          อาทิ "การถูกเนื้อโดนตัว" ระหว่างโดยสารรถสาธารณะ หรือแม้ "การแลกไลน์" ของอุปกรณ์สมาร์ทโฟน ระหว่างเพื่อนพนักงานด้วยกัน...งานนี้เลยมีข้อควรระวังขณะโดยสารรถเมล์ 7 ประการ ที่รวบรวมข้อมูลโดย ขสมก. มาฝากคุณสาวๆ เพื่อให้รู้เท่าทันภัยสังคมโดยปราศจากการ "หยุดนิ่งเฉย" แต่เปลี่ยนมาช่วยกัน "ใช้เสียง" เพื่อแก้เกม...ไปดูกันเลยดีกว่า!!! "ถูกถูไถ" กรณีถูกถูไถ เกิดขึ้นได้ทั้งกับพนักงานเก็บค่าโดยสารเอง หรือแม้แต่กระทั่งผู้โดยสารต่อผู้โดยสารด้วยกันเอง ซึ่งลักษณะของการถูกถูไถนั้น มักเกิดขึ้นในขณะที่รถเมล์แน่น โดยเฉพาะช่วงเช้าหรือหลังเลิกงานเย็น ที่ผู้ซึ่งเป็นผู้คุกคามนั้นจะขยับยืนใกล้เหยื่อ หรือพนักงานเก็บค่าโดยสาร และอาศัยความชุลมุนอิงแอบแนบชิดผู้เสียหาย และพยายามฉวยโอกาสเมื่อรถเบรกกะทันหัน ในการถูกเนื้อต้องตัวคุณสาวๆ แบบไม่ทันระวังตัว
          "ฉวยโอกาส" ปัญหาการถูกฉวยโอกาสบนรถเมล์ ข้อมูลจาก ขสมก. ระบุว่า ค่อนข้างเกิดขึ้นได้บ่อยเช่นเดียวกัน เช่น กรณีที่พนักงานเก็บเงินค่าโดยสาร และยื่นตั๋วรถเมล์ให้ผู้โดยสารนั้น ผู้ก่อเหตุจะรับตั๋วในลักษณะจับมือของกระเป๋าเก็บเงินค่าโดยสาร ซึ่งบางครั้งกระเป๋าที่ถูกกระทำบางคนไม่กล้าพูดหรือส่งเสียงดัง แต่เลือกที่จะนิ่งเฉยแทน ดังนั้นการเปิดใจรับรู้ว่าภัยดังกล่าวนั้น เป็นการคุกคามจากผู้ไม่หวังดี ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อพนักงานเก็บค่าโดยสารได้เช่นเดียวกัน
          "ชอบโชว์" พฤติกรรมชอบโชว์ถือเป็นภัยคุกคามทางเพศ เพราะอาจสร้างความตระหนกตกใจให้กับผู้โดยสาร พูดง่ายๆ ว่าอาจเป็นมลพิษทางสายตา ซึ่งข้อมูลจาก ขสมก. ระบุว่า คุณสาวๆ หลายคนควรรวบรวมความกล้า โดยการใช้คำพูดเสียงดัง เช่น "ช่วยรูดซิบหน่อย" หรือ "กระแอม" เพื่อบอกให้ผู้คุกคามทางเพศรู้ว่า เรารู้ว่าเขากำลังทำอะไร เพื่อให้เกิดความละอายใจและหยุดพฤติกรรม
          "ใช้สายตาโลมเลีย" การถูกสายตาโลมเลียถือเป็นการคุกคามทางเพศอย่างหนึ่ง ดังนั้นคุณสาวๆ ควรหมั่นสังเกตผู้ที่นั่งโดยสารใกล้เคียงว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งหากมีที่นั่งอื่นว่างควรเลี่ยงไปนั่งให้ห่างไกล หรือหาที่นั่งฝั่งเดียวกับพนักงานขับรถ เพราะหากเกิดกรณีถูกลวนลามเป็นรถเมล์สาธารณะ พนักงานขับรถอาจเลี้ยวเข้าสถานที่ตำรวจ เพื่อเชิญผู้คุกคามทางเพศลงจากรถ
          "แทะโลม" การใช้วาจาแทะโลมผู้โดยสาร ถือเป็นภัยคุกคามที่เลี่ยงไม่ได้ เมื่อต้องโดยสารรถสาธารณะ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการโดยสารกับชายเพียงลำพัง หรือเลือกไปนั่งหรือยืนใกล้กับกลุ่มผู้หญิงที่โดยสารบนรถ หรือแจ้งพนักงานเก็บค่าโดยสาร
          "หมาหยอกไก่" ภัยทางวาจาอย่างการพูดล้อเลียนส่อเสียด หรือสื่อการคุกคามทางเพศไปในเชิงหมาหยอกไก่ อย่างเช่น "พี่ไปส่งไหมน้องสาว" หรือ "น้องสาวสวยอย่างนี้ ไม่น่าจะมาเป็นกระเป๋า ไปอยู่กับพี่ไหม" ดังนั้นคุณสาวๆ ที่นิ่งเฉยหรือไม่พูดอะไร ควรเปลี่ยนมาแสดงให้ผู้กระทำการคุกคามนั้นหยุดการกระทำให้ละอาย โดยการอ่านสติ๊กเกอร์ป้องกันการคุกคามทางเพศที่ติดไว้บริเวณรถโดยสารด้วยเสียงค่อนข้างดัง เพื่อเป็นการขอความร่วมมือจากผู้โดยสารท่านอื่น
          "แต๊ะอั๋ง" กรณีนี้เกิดขึ้นได้ทั้งช่วงเวลาที่การจราจรติดขัด หรือแม้แต่ช่วงสายของวัน โดยเฉพาะหากโดยสารร่วมกับผู้ชายหรือคนต่างเพศ ทั้งการใช้ศอกแตะบริเวณหน้าอก การสัมผัสอวัยวะสงวนของผู้หญิง การโอบไหล่ หรือการกอดคอ ระหว่างเพื่อนพนักงานหญิงชาย แนวทางที่ดีที่สุดนั้น ขสมก.แนะนำว่า คุณสาวๆ เปลี่ยนความนิ่งเฉยมาเป็นการใช้เสียง โดยการ "เอามือออกไปห่างๆ หน่อย" หรือ "ศอกโดนหน้าอกนะ" เป็นต้น
          โอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการ ขสมก. เสริมว่า "เนื่องจากกฎหมายยังไม่มีมาตรการ หรือบทลงโทษในการคุกคามทางเพศบนรถเมล์สาธารณะ ดังนั้นการกระตุ้นให้สังคมหรือคนรอบข้างมีส่วนร่วม หรือบีบให้ผู้กระทำผิดโดยการใช้เสียง ก็น่าจะช่วยให้ผู้กระทำการคุกคามเกิดความละอาย และลดพฤติกรรมเหล่านี้ลงได้ครับ"
          ขณะที่ ไรรัตน์ รังสิตพล ผู้แทนยูเอ็นวีเมน และ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวเสริมว่า "คุณสาวๆ หลายคนควรตระหนักว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศนั้นครอบคลุมไปถึงเรื่องคำพูดหยอกล้อในที่ทำงาน ซึ่งเราได้ยินกันบ่อยครั้ง เช่น "อึ๋มๆ อย่างนี้ถ้าได้สักทีจะไม่ลืมพระคุณ" หรือ "สวยๆ อย่างนี้ไม่น่าจะเป็นกระเป๋ารถเมล์ ไปอยู่กับพี่ดีกว่า" ดังนั้นหากคุณสาวๆ ยิ่งนิ่งเฉย ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมปัญหาการคุกคามทางเพศส่วนหนึ่งด้วยกัน เพราะหากไม่รับหรือแสดงออกว่า คำพูดเหล่านี้ถือเป็นดูถูก หรือลิดรอนสิทธิของผู้หญิง ในฐานะผู้เป็นเพศแม่ หรือหากพี่น้องของตัวเองโดนแบบนี้บ้าง อย่างน้อยก็น่าจะช่วยทำให้ผู้พูดยุติคำพูดหรือการกระทำให้ลดน้อยลงได้"

pageview  1205848    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved