HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
ไทยโพสต์ [ วันที่ 15/11/2556 ]
ลอยกระทงระวังพลุ-จมน้ำ-เมาแล้วขับ
  กรุงเทพฯ * เตือนอันตรายเล่นดอกไม้ไฟในเทศกาลลอยกระทง เผยปีที่แล้วบาดเจ็บ 756 ราย เสียชีวิต 4 ศพ ขณะที่ต้องระวังเด็กจมน้ำ ส่วนผู้ใหญ่ก็ห้ามเมาแล้วขับ สคอ.แนะ 8 ข้อป้องกันอุบัติภัย
          นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เทศกาลลอยกระทงในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน สิ่งที่น่ากังวลคือ 1.การจุดพลุ ดอกไม้ไฟ ซึ่งผู้ผลิตต้องมีมาตรการที่ชัดเจน เพราะเห็นได้ชัดถึงกรณีข่าวโรงงานผลิตดอกไม้ไฟระเบิด ทำให้มีคนเจ็บและเสียชีวิต ส่วนคนที่นำพลุหรือดอกไม้ไฟมาเล่นก็ต้องมีความระมัดระวัง ถ้าไม่จำเป็นไม่ก็ไม่ควรเล่น 2.การจมน้ำ ที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กลงไปเล่นน้ำแล้วจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ผู้ปกครองต้องช่วยกันดูแลในเรื่องนี้ และ 3.เรื่องสิ่งแวดล้อม ขอให้ใช้กระทงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
          ขณะที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด 28 แห่งทั่วประเทศ พบว่าในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ 2551-2555 มีผู้บาดเจ็บจากการถูกเปลวสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุรวม 2,979 ราย เฉลี่ยปีละ 596 ราย เสียชีวิต 8 ราย เฉพาะปี 2555 บาดเจ็บ 756 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยช่วงเทศกาลลอยกระทง พบผู้บาดเจ็บจากพลุ ร้อยละ 22 หรือประมาณ 166 ราย ที่น่าสนใจพบว่าการบาดเจ็บมีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย อายุที่พบต่ำสุด 2 ปี สูงสุด 90 ปี ร้อยละ 16 เมาเหล้าร่วมด้วย และจากการวิเคราะห์อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่จะเกิดที่มือและข้อมือมากที่สุด ร้อยละ 43 ในจำนวนนี้กระดูกนิ้วมือแตก ร้อยละ 15 นิ้วขาดบางส่วนและทั้งหมด ร้อยละ 10 อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรองลงมาคือ ศีรษะ พบร้อยละ 13 แผลถูกความร้อนและสารกัดกร่อนบริเวณร่างกาย ร้อยละ 10
          นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เป็นอันตราย ต้องสอนให้ลูกหลานเข้าใจว่าห้ามจุดเล่นเองเด็ดขาด และไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณที่จุดพลุ ระยะปลอดภัยในการยืนดูพลุคือระยะ 10 เมตรขึ้นไป ส่วนในผู้ใหญ่ต้องเล่นให้ถูกวิธีตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัดคือ เล่นในโล่ง อยู่ห่างไกลจากบ้านเรือน รวมทั้งห่างไกลวัตถุไวไฟต่างๆ เพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้ตามมาได้อีก ทั้งนี้ หากจุดพลุหรือดอกไม้ไฟแล้ว แต่ไม่ติดหรือไม่ระเบิด ห้ามจุดซ้ำอย่างเด็ดขาด เวลาเล่นควรเตรียมน้ำเปล่า 1 ถังไว้ใกล้ตัวเสมอ เพื่อใช้ดับเพลิงดอกไม้ไฟหรือพลุที่จุดแล้วแต่ไม่ระเบิด ที่สำคัญคืออย่าทดลองทำดอกไม้ไฟหรือพลุเล่นเอง เนื่องจากเคมีแต่ละตัวสามารถทำปฏิกิริยา อาจจะทำให้เกิดอันตรายหรือกระทบกระเทือน สามารถทำให้ระเบิดได้ ไม่ควรเก็บไว้ในกระเป๋า เพราะอาจเสียดสีเกิดความร้อนระเบิดได้
          ด้านนายพรหมมินทร์ กัณธิยะผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า เทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ สิ่งที่กังวลคือการฉลองที่มักจะไม่พ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและความรุนแรงสูงขึ้นกว่าปกติ โดยเทศกาลลอยกระทงปี 2555 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 78 ราย และเสียชีวิตจากการจมน้ำ 21 ราย รวม 99 ราย บาดเจ็บ 678 ราย จึงขอให้ประชาชนลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว
          นายพรหมมินทร์กล่าวว่า วิธีการเที่ยววันลอยกระทงให้สนุกและปลอดภัยคือ การตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน ศึกษาเส้นทางให้รอบคอบ และควรออกก่อนเวลาเพื่อเลี่ยงจราจรติดขัด เพิ่มความระมัดระวังในการขับ ไม่ขับเร็วเกินกำหนด ไม่ดื่มสุรา และปฏิบัติตามกฎจราจร ส่วนผู้ขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย ส่วนการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะอาจได้รับบาดเจ็บจากการเล่นและเกิดไฟไหม้ได้ ซึ่งการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ หากสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น จะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          "วิธีการป้องกันอุบัติภัยในวันลอยกระทง จากข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คือ 1.เลือก ลอยกระทงบริเวณท่าน้ำหรือโป๊ะเรือที่มั่นคงแข็งแรง หากนั่งเรือควรสวมใส่เสื้อชูชีพ รวมถึงขึ้น-ลงเรืออย่างเป็นระเบียบ 2.ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และมิให้เด็กลงไปในน้ำเพื่อเก็บเงินในกระทง 3.ให้สัญญาณก่อนจุดพลุ ทุกครั้ง และออกให้ห่างจากบริเวณที่จุดพลุในระยะ 10 เมตรขึ้นไป 4.ห้ามจุดพลุ ดอกไม้ไฟ บริเวณใกล้แนวสายไฟ สถานีบริการน้ำมัน วัตถุไวไฟ และแหล่งชุมชน 5.ห้ามนำดอกไม้ไฟที่จุดไฟไม่ติดมาจุดซ้ำ หรือใช้ปากเป่าให้ไฟติด และไม่ยื่นหน้าหรืออวัยวะต่างๆ เข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่จุดไฟแล้ว 6.ไม่ดัดแปลงพลุ ดอกไม้ไฟ ให้มีแรงอัดหรือแรงระเบิดพลุ 7.หลีกเลี่ยงการปล่อยโคมลอยใกล้ แหล่งชุมชน 8.ห้ามปล่อยโคมลอยบริเวณโดยรอบสนามบิน หรือช่วงที่เครื่องบินขึ้น-ลง" นายพรหมมินทร์กล่าว.

pageview  1205868    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved